วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (12) : คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1




ประวัติศาสตร์การทหารในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1


เนื่องจากสงครามนโปเลียนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รูปแบบสงครามเปลี่ยนแปลงไป กองทัพมีขนาดใหญ่ขึ้น ต้องการการจัดระเบียบและระบบการสงครามรูปแบบใหม่ขึ้นมารองรับ ต้องการระบบการสื่อสารถ่ายทอดคำสั่งแบบใหม่ที่ทำให้แม่ทัพสามารถล่วงรู้สถานการณ์ล่าสุดอย่างรวดเร็วและสามารถออกคำสั่งได้ทันที เทคโนโลยีอาวุธสูงขึ้นอย่างปืนไรเฟิลก็ทำให้กองทหารแม่นปืนและการรบแบบกองโจรตัดกำลังเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น การเขียนประวัติศาสตร์การทหารจึงมุ่งเน้นไปสู่การสร้างคู่มือสงครามมากขึ้น เพื่อเผยแพร่ทฤษฎีการสงครามและการจัดการกองทัพที่จะนำไปสู่ชัยชนะ โดยมีผู้เขียนสำคัญสองคนหลักคือ อองตวน-อองรี โชมินี (Antoine-Henri Jomini) นายพลชาวสวิสซ์สังกัดกองทัพนโปเลียนก่อนแปรพักตร์ไปสังกัดกองทัพรัสเซียภายหลัง และ คาร์ล ฟอน เคลาเซวิตส์ (Carl von Clausewitz) นายทหารปรัสเซียที่ต่อสู้กับกองทัพนโปเลียน


หนังสือเรื่อง "สู่สงคราม" (On war) ของเคลาเซวิตส์คือหนึ่งในตำราพิชัยสงครามสมัยใหม่ที่มองสงครามเป็นหนึ่งในวิถีการฑูตที่ใช้บีบบังคับให้อีกฝ่ายยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายเรา และมองกระบวนการดำเนินสงครามเป็นหลักการที่ตายตัวที่จะสามารถนำไปใช้ได้ในทุกการรบ เพื่อให้ได้ชัยชนะ ซึ่งทัศนคติดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นทั่วไปในช่วงคริสต์ศวรรษที่ 19 และยังส่งผลสืบเนื่องมาถึงกระบวนการคิดทางทหารในปัจจุบันในหลายประเทศ รวมทั้งกำลังกลายเป็นคู่มือวางแผนการทางธุรกิจควบคู่กับพิชัยสงครามของซุนวู
(http://img2.imagesbn.com/images/103830000/103839209.jpg)



แม้ในปัจจุบันนี้ หนังสือ สู่สงคราม” (On War) ของเคลาเซวิตส์จะเป็นที่รู้จักและส่งอิทธิพลต่อการดำเนินการสงครามในโลกสมัยใหม่มากกว่า ทฤษฎีสำหรับปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่” (Traité de Grande Tactique) ของโชมินี แต่ทั้งสองต่างมีแนวคิดที่เหมือนกันในเรื่องการใช้กำลังที่เหนือกว่า แต่โชมินีเน้นความสำคัญกับการรักษาพื้นที่และขอบเขตปฏิบัติการ มุ่งเข้ายึดจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ และเน้นการใช้ความเร็วและการหลบหลีกมากกว่าการรบแบบตั้งมั่น ขณะที่เคลาเซวิตซ์จะมุ่งทุ่มกำลังเข้าเอาชนะในสมรภูมิขั้นเด็ดขาด สิ่งสำคัญอีกสิ่งที่เคลาเซวิตส์เน้นคือ ปัจจัยที่เกินความคาดหมาย” [1] ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงโรแมนติกที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสงครามมากกว่าแนวคิดการสงครามสมัยก่อนหน้าที่มุ่งเน้นการใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์และการคำนวณเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่นอนตายตัว และเคลาเซวิตส์ใช้กรณีศึกษาในประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่างแสดงถึงหลักการทฤษฎีของเขา รวมถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยนอกเหนือความคาดหมาย นักเขียนทั้งสองได้กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างงานเขียนกรอบทฤษฎียุทธศาสตร์ของกองทัพเรือสมัยใหม่ของอัลเฟรด เธเยอร์ มาฮัน (Alfred Thayer Mahan) แม่ทัพเรือของกองทัพสหรัฐฯผู้สร้างทฤษฎีสมุทรานุภาพในงานเขียน อิทธิพลของอำนาจทางทะเลในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1660-1783” (The Influence of Sea Power upon History, 1660-1783) และจูเลี่ยน คอร์เบตท์ (Julian Corbett) นักประวัติศาสตร์ราชนาวีอังกฤษผู้เน้นความสำคัญต่อการควบคุมเส้นทางทางทะเลมากกว่าการทุ่มกำลังเพื่อพิชิตสมรภูมิขั้นเด็ดขาดใน หลักยุทธศาสตร์ทางทะเลบางประการ” (Some Principles of Maritime Strategy)


หนังสือเรื่อง อิทธิพลของอำนาจทางทะเลในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1660-1783” (The Influence of Sea Power upon History, 1660-1783) ของมาฮันเป็นงานเขียนที่สร้างกระแสแนวคิดเรื่อง "สมุทรานุภาพ" (Sea Power) อันเป็นแนวคิดที่มองว่า กองทัพเรือและการขยายอำนาจทางทะเลเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นรัฐมหาอำนาจ เนื่องจากในยุคสมัยนั้น ปืนใหญ่บนเรือเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพมากที่สุด สร้างความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/90/The_Influence_of_Sea_Power_Upon_History.jpg/424px-The_Influence_of_Sea_Power_Upon_History.jpg)


งานเขียนดังกล่าวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบงานเขียนที่เริ่มแยกความชำนาญการศึกษาออกเป็นสองมุมมองอันเป็นลักษณะสำคัญของการเขียนประวัติศาสตร์การทหารในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มุมมองหนึ่งเป็นมุมมองทางทหารที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของระบบคณะเสนาธิการที่ปรัสเซียสร้างขึ้นเพื่อรองรับการสงครามสมัยใหม่ที่ใช้การขนส่งและเคลื่อนกำลังพลด้วยระบบเครือข่ายรถไฟ ปรัสเซียจึงตั้งคณะเสนาธิการดำเนินการศึกษาประวัติศาสตร์สงคราม เพื่อนำข้อมูลทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์มาปรับใช้กับสงครามที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งการศึกษาสงครามที่ดำเนินโดยคณะเสนาธิการได้นำมาซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์สงครามฉบับเสนาธิการที่ใช้ข้อมูลเอกสารราชการทางทหารที่มาจากการดำเนินสงครามในอดีตและมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้วิธีพัฒนาประสิทธิภาพการทหารในอนาคต หนึ่งในตัวอย่างของประวัติศาสตร์ฉบับเสนาธิการคือ งานเขียน ข้อแนะนำสำหรับผู้บัญชาการหน่วยทหารขนาดใหญ่” (Instructions for Large Unit Commanders) ของนายพลเฮลมุธ ฟอน มอลต์เก้ผู้พ่อ (Helmuth von Moltke the Elder) จอมพลผู้นำกองทัพปรัสเซียเข้ารบในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียและสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ซึ่งนายพลมอลต์เก้ประยุกต์รูปแบบการรบ การเคลื่อนกำลัง และการจัดการหน่วยทหารของกองทัพปรัสเซียในยุคสมัยของเขา โดยศึกษาประวัติศาสตร์สงครามสมัยนโปเลียนจากทั้งฝั่งของกองทัพฝรั่งเศสและกองทัพพันธมิตรร่วม และเขียนทฤษฎีดังกล่าวลงในงานเขียนของเขา เพื่อนำไปสู่การพัฒนากองทัพปรัสเซียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อีกมุมมองหนึ่งคือ ความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการ ซึ่งการศึกษาวิชาความรู้ทางโลกได้รับการพัฒนาและแพร่หลายมากขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และประวัติศาสตร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างมากจนเป็นการศึกษาเฉพาะทาง โดยมีการสัมมนาเป็นกระบวนการสำคัญที่มุ่งเน้นการวิพากษ์หลักฐานชั้นต้น ซึ่งผู้ที่บุกเบิกระบบการศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยการสัมมนาคือ เลโอปอลด์ ฟอน รังเก้ (Leopold von Ranke) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน รังเก้มองว่า ทฤษฎีและมุมมองทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถใช้เป็นหลักสากลในการอธิบายอดีตแต่ละยุคสมัยได้ เขาจึงใช้วิธีการสร้างคำอธิบายแต่ละยุคสมัยโดยอ้างอิงข้อความในเอกสารชั้นต้น และคัดค้านการใช้หลักฐานชั้นรอง แม้วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของรังเก้ยังคงเป็นระเบียบที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยหลัง แต่การศึกษาของเขานั้นมุ่งการตีความเอกสาร ตามที่ปรากฏ” [2] ทำให้งานเขียนของเขามีลักษณะเสมือนรายงานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งลักษณะงานเขียนประวัติศาสตร์นี้ได้หมดความนิยมในสมัยต่อมา เนื่องจากลักษณะการเขียนไม่น่าสนใจและน่าเบื่อ แต่กระนั้น ในช่วงยุคสมัยของเขา ระเบียบวิธีการศึกษาของรังเก้ก็เป็นที่นิยมในการเขียนประวัติศาสตร์อย่างมากทั้งในยุโรปและอเมริกา และทำให้เกิดงานเขียน วารสารประวัติศาสตร์เฉพาะทางซึ่งวารสารดังกล่าวยังได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องจวบจนปัจจุบันโดยสมาคมนักวิชาการประวัติศาสตร์แห่งชาติ เช่น ปริทัศน์ประวัติศาสตร์ของอังกฤษ” (English Historical Review – EHR), “ปริทัศน์ประวัติศาสตร์ของอเมริกา” (The American Historical Review - AHR) และ วารสารประวัติศาสตร์” (Historische Zeitschrift – HZ)

จากการแยกความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาระหว่างประวัติศาสตร์และการทหารออกจากกัน ทำให้การศึกษาด้านประวัติศาสตร์การทหารเป็นเพียงเนื้อหาส่วนย่อยที่ผูกโยงกับการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการเมือง สถาบัน และศาสนา อย่างไรก็ตาม มีนักประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงการศึกษาประวัติศาสตร์เข้ากับการทหาร นักประวัติศาสตร์ผู้นั้นคือ ฮานส์ เดลบรุกค์ (Hans Delbrück) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันผู้เป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์การทหารสมัยใหม่ที่ใช้ระเบียบการศึกษาของรังเก้ในการศึกษาประวัติศาสตร์การทหารในอดีต โดยวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประชากรศาสตร์, เศรษฐกิจ, ระบบการเมือง และสังคม เดลบรุกค์มองว่า สงครามเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมที่จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบเศรษฐกิจและการเมือง [3] จนอาจกล่าวได้ว่า เขาคือบิดาของประวัติศาสตร์การทหารสมัยใหม่


หนังสือ “สิบห้าสมรภูมิรบขั้นเด็ดขาดของโลก” (Fifteen Decisive Battles of the World) ของเครซี่ เป็นหนึ่งในงานเขียนประวัติศาสตร์การทหารที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติการศึกษาประวัติศาสตร์การทหารในสมัยต่อมา ซึ่งทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์การทหารถูกมองว่าเป็นการส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งและลัทธิทหารนิยม
(http://ecx.images-amazon.com/images/I/41rToLWkjtL._SY344_BO1,204,203,200_.jpg)


แต่กระนั้น การเขียนประวัติศาสตร์ของเดลบรุกค์ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างการทหารกับการเมืองได้เข้ามาสนับสนุนแนวคิดรัฐทหารของปรัสเซีย และไม่เป็นที่นิยมในการเขียนประวัติศาสตร์การทหารของอังกฤษและอเมริกาที่สังคมพลเรือนมีอำนาจเหนือองค์กรทางทหาร รวมทั้งทัศนคติแบบโรแมนติกได้สร้างคำอธิบายชัยชนะทางทหารว่า เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการพัฒนาประเทศของสังคมพลเรือนและความก้าวหน้าของอารยธรรม ส่งผลให้งานเขียนประวัติศาสตร์การทหารมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์การรบที่มุ่งเน้นตีความในเชิงยกย่องเชิดชูตนเองแบบชาตินิยมดังเช่นงานเขียน สิบห้าสมรภูมิรบขั้นเด็ดขาดของโลก” (Fifteen Decisive Battles of the World) ของเซอร์ เอ็ดเวิร์ด เครซี่ (Sir Edward Creasy) นักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่นชาวอังกฤษ ซึ่งงานเขียนของเขามุ่งเน้นความสำคัญของ ชัยชนะขั้นเด็ดขาดของชาติตะวันตกเหนือชาติตะวันออก และมองว่า ชัยชนะของอารยธรรมตะวันตกนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้อังกฤษพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกในยุคสมัยของเขา [4] งานเขียนของเครซี่ชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายครั้งและได้รับความนิยมในวงกว้างทั้งในระดับผู้สนใจทั่วไปจนถึงระดับอดีตทหารเกษียณอายุ ซึ่งทำให้มีนักเขียนคนอื่นสร้างสรรค์งานเขียนลักษณะเช่นเดียวกันนี้ออกมาเพิ่มเติมจนกลายเป็นรูปแบบหลักในการเขียนประวัติศาสตร์การทหารช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการนำเสนองานเขียนประวัติศาสตร์การทหารในระดับผู้สนใจทั่วไป

โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประวัติศาสตร์การทหารมีลักษณะสองประการอย่างชัดเจน ลักษณะแรกคือ การเป็นคู่มือสงครามที่มุ่งเน้นการวิเคระห์สงครามและสมรภูมิต่าง ๆ ในอดีต เพื่อค้นหาหลักสากลในการดำเนินการสงครามให้ได้ชัยชนะอย่างแน่นอนเท่านั้น มิได้มุ่งวิเคราะห์หรือศึกษาบริบทอื่น ๆ ทางประวัติศาสตร์หรือความแตกต่างระหว่างบริบทแต่ละช่วงเวลามาใช้ประกอบทฤษฎีทางทหาร แม้งานเขียนของเดลบรุกค์ได้แสดงให้เห็นถึงการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างบริบททางประวัติศาสตร์ด้านอื่น ๆ กับการทหาร แต่งานเขียนของเขาก็มิได้รับความนิยมมากและหมดความนิยมลงเมื่อบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์พิชัยสงครามยุคกลาง” (A History of the Art of War in the Middle Ages) ของชาร์ลส์ โอมาน (Charles Oman) ได้รับรางวัลบทความดีเด่นระดับปริญญาตรีในปีค.ศ. 1888 และกลายเป็นงานเขียนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องในห้องสมุดจนถึงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การทหารได้แยกตัวจากประวัติศาสตร์เชิงวิชาการแขนงอื่น ๆ ออกไปเป็นประวัติศาสตร์เพื่อการทหาร

อีกลักษณะหนึ่งคือ การแสดงออกถึงแนวคิดชาตินิยม เชื้อชาตินิยม และทัศนคติแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง โดยมีกรอบแนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่กำกับคำอธิบายชัยชนะขั้นเด็ดขาดของสงครามในอดีต โดยมองว่า สงครามเป็นปัจจัยสำคัญที่พัฒนารัฐยุโรปและอเมริกาไปสู่การเป็นมหาอำนาจในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และผลลัพธ์ของสงครามกับการพัฒนาชาติมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญและการฉวยโอกาส หากแต่เป็นการแสดงออกซึ่งแก่นคุณลักษณะของชาติที่ชัดเจน เช่น ชัยชนะของชาวกรีกเหนือเปอร์เซียในการรบที่มาราธอนเป็นสิ่งที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของการเป็นเสรีชนชาวกรีกเหนือระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของเปอร์เซีย และการรบที่ฮาสติ้งส์ปีค.ศ. 1066 แสดงถึงการปะทะกันระหว่างระบอบเผด็จการอภิสิทธิ์ชนของนอร์แมนกับความรักอิสรภาพและนิยมประชาธิปไตยของแองโกล-แซกซอน เป็นต้น ด้วยกรอบแนวคิดนี้ จึงทำให้การเขียนประวัติศาสตร์มุ่งแต่เพียงเรื่องราวของชาติตนเองและยุโรป โดยมุ่งเน้นกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกร่วมของคนในชาติผ่านแนวคิดชาตินิยม ขณะที่ละเลยความสำคัญของรัฐที่อยู่นอกยุโรปอย่างจีนและอเมริกาแม้จะมีการติดต่อสัมพันธ์กัน ซึ่งทำให้บทเรียนจากสงครามที่เกิดขึ้นร่วมสมัยในดินแดนนอกยุโรป เช่น สงครามไครเมียร์, สงครามกลางเมืองอเมริกา, สงครามบัวร์ในแอฟริกา และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น มิได้รับความสนใจ หากแต่มุ่งเน้นความสนใจยังสงครามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และสงครามนโปเลียนแทน อีกทั้งการขยายอิทธิพลในดินแดนโพ้นทะเลทั้งในลักษณะอิทธิพลทางการเมืองและการครอบครองอาณานิคมด้วยแสนยานุภาพทางทหารที่มีเทคโนโลยีและทักษะการทหารที่เหนือกว่าได้สร้างภาพมายาให้รัฐยุโรปแต่ละชาติเชื่อมั่นว่า ตนมีแสนยานุภาพมากเพียงพอที่จะก่อกรกับชาติทัดเทียมกันหรือเหนือกว่าได้

ลักษณะทั้งสองประการนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมการเขียนประวัติศาสตร์การทหารของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 จนกระทั่งทศวรรษที่ 1950 จึงได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาประวัติศาสตร์การทหาร

[1] ผู้เขียนเองและนักวิชาการอื่น ๆ มักใช้คำว่า เมฆหมอกสงคราม” (Fog of War) เป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่ายกว่า ซึ่งใช้เปรียบเปรยถึงปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมหรือหยั่งรู้ได้ที่จะทำให้การสงครามดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น
[2] หนังสือและบทความจะใช้คำว่า ตามที่หลักฐานปรากฏ” (as it actually happened) ซึ่งเป็นการตีความหลักฐานประวัติศาสตร์ตามตัวอักษร ยกข้อความในเอกสารประวัติศาสตร์มาใช้เขียนงานประวัติศาสตร์โดยตรง ต่างจากการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบันที่ใช้ศาสตร์หลายอย่างร่วมกัน และหยิบยกข้อเท็จจริงในเอกสารมาวิพากษ์ถึงความสอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏอื่น ๆ มากกว่าการตีความตามตัวอักษร
[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Hans_Delbr%C3%BCck 
[4] http://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Shepherd_Creasy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น