วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (6) : ยุโรปยุคกลาง



ประวัติศาสตร์การทหารในยุโรปยุคกลาง

ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิก็ได้แบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรต่าง ๆ ที่ปกครองโดยชนเผ่าเยอรมันผู้รุกราน ซึ่งแต่ละอาณาจักรมิได้มีอำนาจทางการเมืองมากพอที่จะพัฒนากลไกที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางดั่งเช่นจักรวรรดิโรมัน และสภาวะเศรษฐกิจถดถอยลงจากภาวะความสับสนวุ่นวายจากการอพยพย้ายถิ่นฐานและการรุกรานจากพวกไวกิ้ง การตัดขาดเส้นทางการค้าระยะไกลของดินแดนตอนในภาคพื้นทวีป การขยายตัวของจักรวรรดิอิสลาม และความเสื่อมลงของระบบเงินตรา ซึ่งศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับรองรับการสร้างกองทัพขนาดใหญ่ อีกทั้งการที่ชนชั้นนำเจ้าของที่ดินชาวคริสต์ตั้งแต่สมัยปลายจักรวรรดิโรมันขึ้นมามีอำนาจจากการเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต คือ ที่ดิน ทำให้ชนชั้นนำเจ้าของที่ดินเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นเจ้าของกำลังทหารที่มาจากผู้คนที่ยินยอมอยู่ใต้อำนาจของตน


 ภาพพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ซาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศส พระองค์กำลังรับการสวมมงกุฎโดยพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า สิทธิธรรมและอำนาจในการปกครองทั้งมวลเป็นอำนาจจากพระเจ้า โดยผู้ที่นำอำนาจมามอบให้คือ ศาสนจักร
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Charles-vii-courronement-_Panth%C3%A9on_III.jpg)


ขณะเดียวกัน องค์กรศาสนาคริสต์ที่รับรูปแบบการจัดการองค์กรจากสถาบันการเมืองของจักรวรรดิโรมันขึ้นมามีอำนาจเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ที่เข้ามาจัดตั้งกลไกการปกครองให้แก่อาณาจักรต่าง ๆ พร้อมการเผยแผ่ศาสนา และศาสนาคริสต์กลายเป็นที่มาของสิทธิธรรมการปกครองของอาณาจักรต่าง ๆ ตามแนวคิด เทวสิทธิ์” (Divine Right) ของพระคัมภีร์ใหม่ที่มองว่า อำนาจทั้งหมดเป็นของพระเจ้า กษัตริย์คือผู้ปกครองโดยอำนาจของพระเจ้า โดยพระเจ้าจะเลือกสรรกษัตริย์โดยยึดหลักสายโลหิต และพระเจ้าคือผู้เดียวที่จะตัดสินพฤติกรรมของกษัตริย์ [1] ดังนั้น กษัตริย์ของแต่ละอาณาจักรจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากศาสนจักรซึ่งดำรงสถานะเป็นสื่อกลางระหว่างโลกกับสวรรค์ จึงจะมีความชอบธรรมในการปกครองและเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่กระนั้น กษัตริย์ก็มิได้มีอำนาจการปกครองอาณาจักรทั้งหมด อำนาจของพระองค์แท้จริงนั้นจำกัดอยู่เพียงในพื้นที่แว่นแคว้นที่พำนักของพระองค์ นอกเหนือจากอาณาเขตนั้น พระองค์ก็เป็นเพียงผู้ที่ได้รับการยอมรับจากเหล่าชนชั้นนำในฐานะสายเลือดที่เลือกสรรโดยพระเจ้า ขณะที่สภาขุนนางคือกลุ่มคนที่กุมอำนาจการปกครองอย่างแท้จริง และองค์กรทางศาสนาเป็นผู้มีอิทธิพลทางสังคมต่อรองอำนาจของกษัตริย์

ลักษณะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมดังกล่าวนี้คือ ฟิวดัล” (Feudalism) [2] อันเป็นลักษณะความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างชนชั้นเจ้านาย ผู้สวามิภักดิ์ใต้อำนาจ และที่ดินซึ่งผูกพันกันแน่นแฟ้น และลักษณะเช่นนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการเขียนประวัติศาสตร์ในช่วงระหว่างปีค.ศ. 400-1000 ที่ชนชั้นนำนักรบและการให้ความสำคัญกับความรู้ทางศาสนาเข้ามามีบทบาทครอบงำ

ในช่วงยุคกลางตอนต้น ความไม่มั่นคงในชีวิตส่งผลให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการหาเลี้ยงชีพแบบพึ่งตนเองและแสวงหาความปลอดภัย การศึกษามิใช่สิ่งจำเป็นและถูกมองว่าเป็นกิจของนักบวช อีกทั้งการเรียนหนังสือถูกจำกัดไว้เพียงในองค์กรทางศาสนา กลุ่มนักบวชจึงเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่เข้าถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์และบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์ที่ดำเนินโดยโบสถ์มิใช่การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบเฉกเช่นในสมัยกรีก-โรมัน หากแต่มีรูปแบบเป็นบันทึกเหตุการณ์ทางศาสนาที่จะบันทึกเป็นรายช่วงเวลา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายปี) โดยเน้นเหตุการณ์สำคัญ แต่กระนั้น ก็มีรายละเอียดเนื้อหาของเหตุการณ์เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทหารและสงคราม รวมทั้งมักยกคำหรือประโยคจากงานเขียนยุคโรมันมาใช้อธิบายรายละเอียดของสงคราม [3] อีกทั้งมีกรอบความคิดในเชิงประวัติศาสตร์ศาสนาที่มองว่า พระเจ้ากำหนดทุกสิ่งและทุกเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลาไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงทำให้ความคิดความเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัยแห่งสงครามมีเพียง ประสงค์ของพระเจ้าและ การทดสอบของพระเจ้าความสามารถของแม่ทัพหรือบุคลากรทางทหารมิได้รับความสำคัญเท่าใดนัก


 ภาพการดำเนินเรื่องราวของบทเพลงแห่งโรแลนด์
(http://en.wikipedia.org/wiki/File:Grandes_chroniques_Roland.jpg)

จากมุมมองทางศาสนาและการมองว่า การศึกษาเป็นกิจของนักบวชเท่านั้น จึงทำให้ในช่วงต้นของยุคกลาง ไม่มีงานเขียนที่สร้างขึ้นเพื่อการศึกษาทางทหารชิ้นอื่นนอกเหนือจากสำเนางานเขียนของเวเกติอุสที่มีการคัดลอกไว้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังคงเกิดข้อสงสัยว่า มีการนำงานเขียนของเวเกติอุสมาศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการสงครามจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะที่งานเขียนในเชิงการศึกษาการทหารยังคงเป็นข้อสงสัย งานเขียนอีกประเภทหนึ่งได้เจริญขึ้น นั่นคือ บทกวีเรื่องเล่าจากสงคราม ซึ่งบันทึกจากเรื่องเล่าปากต่อปากหรือมุขปาฐะเช่นเดียวกันมหากาพย์อีเลียดในสมัยกรีกโบราณ บทกวีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ บทเพลงแห่งโรแลนด์ (La Chanson de Roland) ซึ่งเป็นบทกวีที่เล่าเรื่องราววีรกรรมของสมรภูมิรงเคอวัวซ์ (Battle of Roncevaux) ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์แห่งชนชาติแฟรงค์ ชาร์เลอมาญ (Charlemagne) แม้บทกวีนี้จะเป็นที่นิยมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 และมีเนื้อหาที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ลักษณะของเนื้อหาเป็นไปในลักษณะเดียวกันคือ บทกวีจะสะท้อนถึงสังคมชนชั้นนำนักรบและการเชิดชูคุณค่าวีรกรรม ความกล้าหาญ ความภักดี และศิลปะการต่อสู้ด้วยสำนวนภาษาที่วิจิตร เฉกเช่นเดียวกับบทกวีเรื่องเล่าจากสงครามจากดินแดนอื่นในยุคจารีตนี้ เช่น มหากาพย์ซุนเดียตา (Sundiata Keita) ของจักรวรรดิมาลีในแอฟริกาตะวันตกช่วงศตวรรษที่ 13 และเรื่องเล่าของพวกเฮเกะ (Heike Monogatari) ของญี่ปุ่นยุคคามาคุระ เป็นต้น ซึ่งลักษณะสำนวนภาษาดังกล่าวทำให้เกิดความซับซ้อนในการตีความและมักนำไปสู่การตีความหมายผิด

การเขียนประวัติศาสตร์ในลักษณะดังกล่าวดำเนินไปจนกระทั่งประมาณศตวรรษที่ 10-13 เมื่อโลกยุโรปตะวันตกเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ทางการเมืองที่สงบลง สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นเป็นเวลายาวนาน และการพัฒนาวิธีการผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ประชากรเพิ่มขึ้น เกิดการขยายพื้นที่ทำการเกษตรและเกิดการตั้งเมืองตามชุมทางที่มีการเดินทางคับคั่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ผู้คนจะนำผลผลิตส่วนเกินมาแลกเปลี่ยนกัน สิ่งนี้นำมาซึ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจเงินตราเพื่อมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน การเสื่อมลงของฟิวดัล และการฟื้นฟูอำนาจของกษัตริย์

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเงินตรานี้ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการทหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ ขุนนางสามารถเรียกเกณฑ์กำลังพลจากผู้ใต้ปกครองด้วยพันธสัญญาที่กำหนดอายุเวลา 40 วันต่อปี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ขุนนางมีความมั่งคั่งและสามารถใช้จ่ายทรัพย์จ้างทหารรับจ้างประจำการได้ตลอดเวลาตราบเท่าที่ยังที่ทรัพย์จ่าย [4] ความมั่งคั่งดังกล่าวยังส่งผลให้ชนชั้นนำนักรบแสวงหาความสนใจอื่นนอกเหนือจากการสงคราม และทำให้เกิดแนวคิด ธรรมะอัศวิน” (Chivalry) ซึ่งเป็นค่านิยมของชนชั้นนำนักรบที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงการเป็นนักรบที่มีอารยะและเป็นที่ยอมรับในหมู่ชนชั้นนำนักรบด้วยกัน

 ภาพสมรภูมิฮาสติงซ์ที่ปักบนผ้าปักบาเยอซ์ (Bayeux Tapestry) แสดงภาพอัศวินนอร์แมนเข้าปะทะกับทหารราบแองโกล-แซกซอน
(http://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Hastings)

ภาพสมรภูมิฮาสติงซ์ที่วาดด้วยสีน้ำมันของจิตรกรทอม โลเวลล์ (Tom Lovell) ซึ่งแสดงภาพบิชอปโอโด (อัศวินที่ถือกระบอง) นำทหารม้าพุ่งเข้าปะทะทหารราบของฝ่ายแองโกล-แซกซอน ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เขาเป็นผู้คุมอัศวินที่อยู่แนวหลัง แต่กระนั้นก็เป็นภาพที่สวยงามและทรงพลังภาพหนึ่ง
(http://www.angelfire.com/mb2/battle_hastings_1066/lovell.html)

 สังคมที่สงบสุขลงและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการเรียนหนังสือและขยายขอบเขตความรู้มากขึ้นจากเรื่องทางศาสนา แม้กลุ่มนักบวชจะยังคงเป็นกลุ่มหลักที่กำหนดทิศทางการเขียนประวัติศาสตร์ แต่เสมียนที่ทำงานจดบันทึกเรื่องราวในราชสำนักก็ได้เข้ามามีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์ในอีกด้านหนึ่ง งานเขียนทางประวัติศาสตร์จึงเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น หนึ่งในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ช่วงต้นหลังการฟื้นฟูการค้าเป็นกลุ่มที่ดำเนินงานเขียนเกี่ยวกับราชวงศ์แองโกล-นอร์แมนที่ก่อตั้งโดยกษัตริย์วิลเลี่ยมที่ 1 ผู้พิชิต (William the Conqueror) เมื่อพระองค์พิชิตอังกฤษได้ในปีค.ศ. 1066 หนึ่งในงานเขียนนั้นคือ กรณียกิจของของวิลเลี่ยม ดุ๊กแห่งนอร์มังดีและกษัตริย์แห่งอังกฤษ” (Gesta Willelmi ducis Normannorum et regis Anglorum) ของวิลเลี่ยมแห่งปัวติเย่ส์ (William of Poitiers) อัศวินและบาทหลวงประจำพระองค์ของกษัตริย์วิลเลี่ยม งานเขียนของเขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชประวัติของกษัตริย์วิลเลี่ยมและการพิชิตอังกฤษ โดยเฉพาะสมรภูมิฮาสติงซ์ในค.ศ. 1066 (Battle of Hastings) ซึ่งแม้เขาจะให้สำนวนการเขียนในลักษณะเชิดชูกษัตริย์ในลักษณะแบบเดียวกับที่จูเลียส ซีซาร์ใช้เพื่อยกย่องพระองค์ให้เทียบเท่าชาวโรมัน [5] แต่จากการที่งานเขียนนี้รวบรวมหลักฐานจากการสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่เหตุการณ์และตัวเขาเองเป็นอดีตอัศวินและบาทหลวงประจำพระองค์ จึงถือว่างานเขียนของเขาเป็นงานที่มีคุณค่ามากในการศึกษาการทหารสมรภูมิสำคัญของกษัตริย์วิลเลี่ยมผู้พิชิต

ภายหลังจากงานเขียนของวิลเลี่ยมแห่งปัวติเย่ส์ไปอีก 60 ปี นักประวัติศาสตร์รุ่นต่อมาได้กลับมาทบทวนศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์นอร์มังดีและอังกฤษในช่วงเวลาต่อมา งานเขียนของช่วงเวลานี้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ประวัติศาสตร์ศาสนา (Historia Ecclesiastica) ของออร์เดอริค วิตาลิส (Orderic Vitalis) ซึ่งมีเนื้อหาที่ครอบคลุมตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์จนถึงเหตุการณ์สงครามครูเสดครั้งแรก โดยเนื้อหาในช่วงหลัง เขามุ่งเน้นการศึกษาพระราชประวัติของกษัตริย์วิลเลี่ยมที่ 1, เรื่องเกี่ยวกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์, ศาสนจักร, การพิชิตดินแดนซิซิลีและอปูเลียของชาวนอร์แมน และสงครามครูเสด โดยใช้ข้อมูลจากงานเขียนร่วมสมัยและงานเขียนของวิลเลี่ยมแห่งปัวติเย่ส์ รวมทั้งหนังสือส่งของกำนัลแก่โบสถ์ของชาวนอร์แมน [6] อีกงานเขียนหนึ่งที่มีชื่อเสียง คืองานเขียนของวิลเลี่ยมแห่งมัลเมสเบอรี่ (William of Malmesbury) ซึ่งเน้นกรณียกิจของบุคคลสำคัญทางศาสนาและกษัตริย์อังกฤษ โดยเขาพยายามใช้เอกสารและการสัมภาษณ์บุคคลร่วมสมัย [7] แม้งานเขียนของทั้งสองนี้จะยังหยิบยืมคำในภาษาละตินมาใช้อธิบายทางการทหาร แต่การอธิบายความเป็นไปตามบริบทร่วมสมัยมากกว่าการเขียนประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนหน้าที่คัดลอกคำและประโยคจากงานเขียนสมัยโรมันมาโดยตรง นอกจากงานเขียนจากทางราชสำนักแล้ว งานเขียนจำพวกบันทึกเหตุการณ์ในท้องถิ่นก็มีแพร่หลายมากขึ้นและให้รายละเอียดมากขึ้น และต่อมาประมาณศตวรรษที่ 14 นักประวัติศาสตร์ประจำตระกูลได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งนักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้จำนวนหนึ่งเช่น ชอง ฟรัวซ์ซาต์ (Jean Froissart) และชานดอส เฮอรัลด์ (Chandos Herald) รับจ้างทำหน้าที่เผยแพร่วีรกรรมและวีรคติอัศวินของชนชั้นนำนักรบทั้งฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงสงครามร้อยปี งานเขียนลักษณะนี้จะมุ่งเน้นวีรกรรมการต่อสู้ของอัศวินเป็นหลัก ขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการการทหารและทหารราบชนชั้นล่างเป็นเพียงเนื้อหาส่วนน้อย

แม้ในช่วงหลังจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผู้ที่มีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์จะขยายกลุ่มมากขึ้นจากกลุ่มนักบวชในสถาบันทางศาสนาไปสู่ชนชั้นนำนักรบและราชสำนัก อย่างไรก็ตาม การเขียนประวัติศาสตร์ยังคงให้ความสำคัญกับคำอธิบายประวัติศาสตร์ในเชิงศาสนาแม้จะมีผู้เขียนจำนวนหนึ่งเริ่มให้ความสำคัญกับการตัดสินใจและการกระทำที่เกิดโดยตัวมนุษย์เอง รวมถึงคุณค่าและมุมมองของชนชั้นสูงนักรบได้ลดทอนความสำคัญงานเขียนจำพวกคู่มือการทหาร บทกวีเรื่องเล่าจากสงครามที่เติบโตขึ้นในช่วงยุคกลางตอนต้นก็พัฒนาการเล่าเรื่องความยิ่งใหญ่ของวีรกรรมไปสู่วีรคติอัศวินและความรักใคร่ดั่งเช่น “ตำนานกษัตริย์อาเธอร์” ที่มีเรื่องเล่าหลากหลายแบบ และออกห่างจากการเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์สู่วรรณคดี [8]

ขณะที่โลกยุโรปตะวันตกมีลักษณะสังคมที่ศาสนจักรและชนชั้นนำนักรบเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเขียนประวัติศาสตร์ ยุโรปอีกฟากหนึ่งก็มีลักษณะสังคมที่แตกต่างออกไปและส่งผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ในอีกลักษณะหนึ่งแม้ศาสนาคริสต์ยังคงเป็นศาสนาแห่งรัฐในยุโรปฟากตะวันออกเช่นเดียวกับฟากตะวันตก รัฐที่จะกล่าวถึงนี้คือ จักรวรรดิไบแซนไทน์

[1] สุขุม นวลสกุล และโกศล โรจนพันธุ์. ทฤษฎีการเมืองสมัยโบราณและสมัยกลาง. (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2548), หน้า 77
[2] ฟิวดัลในบทความนี้จะมิได้มีความหมายเดียวกับคำว่า ศักดินาสวามิภักดิ์ตามความหมายที่คนไทยคุ้นเคย ซึ่งมักนำเปรียบเทียบกับลักษณะสังคมศักดินาของสมัยอยุธยา เนื่องจากลักษณะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างยุโรปยุคกลางกับอยุธยามิได้มีความคล้ายคลึงกัน
[3] Stephen Morillo and Michael F. Pavkovic. What is Military History? (Polity Press, 2014), p. 22
[4] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศสในกระแสเศรษฐกิจโลกจากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ. แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 2 (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2552), หน้า 67
[5] Stephen Morillo and Michael F. Pavkovic. What is Military History?, p.23
[6] http://en.wikipedia.org/wiki/Orderic_Vitalis
[7] http://en.wikipedia.org/wiki/William_of_Malmesbury 
[8] Stephen Morillo and Michael F. Pavkovic. What is Military History?, p.23-24

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น