วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

นิยามและขอบเขตของประวัติศาสตร์การทหาร



ประวัติศาสตร์การทหารมีแก่นนิยามหลักทั่วไปคือ ประวัติศาสตร์สงครามและการทำสงคราม แต่เนื่องจากวิธีการอธิบายเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์แขนงนี้จะมุ่งเน้นการเล่าเรื่องราวการรบในสมรภูมิและวิเคราะห์รูปแบบยุทธวิธีการรบ ประวัติศาสตร์การทหารจึงมีภาพลักษณ์เป็น “ตำราพิชัยสงคราม” มากกว่าเป็นองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เฉกเช่นประวัติศาสตร์แขนงอื่น ๆ และถูกผลักออกจากขอบข่ายการศึกษาประวัติศาสตร์กลายเป็นการศึกษาในเชิงการทหารเพียงอย่างเดียว ทั้งที่นักประวัติศาสตร์ยังสามารถดำเนินการศึกษาในขอบเขตนี้ได้ โดยแสวงหาหรือขยายเรื่องราวการสงครามให้เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก เช่น การวิเคราะห์วัตถุประสงค์ทางการเมืองของสงคราม, ปัจจัยสาเหตุและผลลัพธ์ของยุทธศาสตร์สงครามที่ผู้นำประเทศเลือกใช้, ความสอดคล้องระหว่างยุทธศาสตร์สงครามกับปฏิบัติการทางทหาร, แนวคิดและความเชื่อของผู้นำต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ รวมถึงความคิดความเชื่อของบุคลากรภาคสนามต่อการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางทหาร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการศึกษาดังกล่าวยึดโยงทั้งการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมตั้งแต่ในระดับของผู้นำทางการเมืองที่กำหนดการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์, องค์กรที่นำยุทธศาสตร์ไปกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ จนถึงบุคลากรที่นำเอาแผนไปดำเนินยุทธวิธีการรบในสงคราม


แม้แก่นนิยามหลักของประวัติศาสตร์การทหารจะเป็นเรื่องของสงคราม แต่สงครามมิอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มี “กองทัพ” อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สงครามเกิดขึ้นและดำเนินไป ซึ่ง “กองทัพ” มิได้เป็นหน่วยทางการทหารเป็นหน่วยเดียวโดด ๆ หากแต่เป็นองค์กรที่ประกอบขึ้นจากหน่วยทางการทหารมากมายที่ทำหน้าที่ต่างกัน แต่ก็ต่างมีบทบาทในการขับเคลื่อนกองทัพทั้งในยามสงบและยามสงคราม หน่วยงานทางทหารเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในประเด็นการศึกษาที่สำคัญของนักประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปัจจัยที่นำไปสู่การก่อตั้งจนถึงผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ต่อกลุ่มบุคคลที่มิได้เป็นทหารทั้งทางตรง เช่น ชุมชนในเขตพื้นที่ปฏิบัติการ, กลุ่มคนที่อยู่ในเขตยึดครองทางทหาร, กลุ่มชนชายขอบเขตแดนประเทศ และทางอ้อม เช่น การเกณฑ์บุคคลเข้าประจำหน่วยและการเพิ่มหรือลดการเก็บภาษี เพื่อนำไปจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยงานทางทหารนั้น เป็นต้น แม้หน่วยทางทหารกลุ่มหลักจะมีขึ้นเพื่อทำการรบในสงคราม แต่กองทัพยังมีหน่วยงานอื่นที่มิได้ดำเนินการรบด้วย เช่น หน่วยพลาธิการ, หน่วยขนส่ง, กองแพทย์สนาม, สารวัตรทหาร ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งก็สามารถนำมาเป็นประเด็นในการศึกษาได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การคงอยู่หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมล้วนจะส่งผลต่อการคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพในรัฐโบราณซึ่งมิได้เป็นหน่วยงานที่แยกต่างหากจากสังคม หากแต่เป็นหนึ่งในชนชั้นที่ผูกพันกับสังคม เช่น ชนชั้นซามูไรในญี่ปุ่น, กองทหารลีเจี้ยนของจักรวรรดิโรมัน, กองทหารฮอปไลต์ของนครรัฐกรีก, ทหารม้าคอมมาเนี่ยนของนครรัฐมาซิโดเนีย, อัศวินในยุโรปยุคกลาง, วรรณะนักรบกษัตริย์ในอินเดีย ฯลฯ เป็นต้น การศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสังคมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมที่มีต่อกองทัพจึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่ดึงเอากองทัพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์

ประเด็นที่มักได้รับความสนใจมากในการศึกษาประวัติศาสตร์การทหารไม่แพ้เรื่องกองทัพ คือ พัฒนาการเทคโนโลยีทางทหาร ซึ่งพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการทหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางทหารส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสงครามและยุทธวิธีทางทหาร และมักมีส่วนสำคัญในการกำหนดชัยชนะของสงคราม การศึกษาจึงมักมุ่งเน้นไปยังคำตอบของคำถามว่า “ผู้ใดคือผู้ที่ครอบครองเทคโนโลยีทางทหารที่เหนือกว่า” อย่างไรก็ตาม การศึกษาแต่เพียงพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวโดยละเลยปัจจัยทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงปัจจัยข้อจำกัดด้านอื่น ๆ เช่น ภูมิศาสตร์, ภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้การศึกษาประวัติศาสตร์การทหารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งทฤษฎีเรื่องชัยชนะจากความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีทางทหารไม่สามารถอธิบายผลของสงครามในหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะในเหตุการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบของสงครามเปลี่ยนแปลงไป คู่สงครามมิใช่ระหว่างรัฐต่อรัฐ หากแต่เป็นรัฐกับกลุ่มคน และสงครามมีลักษณะเป็นกองโจรหรือกองกำลังขนาดย่อมที่มีเทคโนโลยีทางทหารที่ด้อยกว่ากองทหารของรัฐ การศึกษาถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีทางทหารที่มิอาจยุติสงครามหรือความขัดแย้งได้และการศึกษาทางสังคมเพื่อนำไปสู่การยุติสงครามจึงกลายเป็นอีกประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจใน ณ เวลานี้ที่ภัยคุกคามใหม่มาในรูปแบบของการก่อการร้ายแทนการทำสงครามแบบเปิดเผย อีกทั้งกาลเวลาที่ผ่านไปทำให้เทคโนโลยีทางทหารผันเปลี่ยนมาสู่มือของพลเมืองมากขึ้น เช่น อินเตอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์สื่อสารทางไกล และล่าสุดคือ ยานบินบังคับระยะไกลขนาดเล็ก หรือ “โดรน” การจัดการเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐอาจจะกลายเป็นประเด็นศึกษาในอนาคตในเวลาอีกไม่นาน

แม้สงครามและการต่อสู้จะเป็นเรื่องของเพศชายเป็นสำคัญ แต่ก็หาใช่ว่า เพศหญิงจะมิได้มีบทบาทใด ๆ ในประวัติศาสตร์การสงคราม เช่น อลิซาเบ็ธที่ 1 แห่งอังกฤษผู้สนับสนุนฟรานซิส เดรคดำเนินยุทธวิธีโจรสลัดต่อต้านการคุกคามของกองเรือสเปน, ฌาน ดาร์คหรือโจนออฟอาร์ค วีรสตรีผู้นำกองทัพฝรั่งเศสเข้าต่อสู้ในสงครามร้อยปี, บูดิก้า ราชินีเซลติกแห่งบริตาเนียผู้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจจักรวรรดิโรมัน, จึงจั๊กและจึงหญิ สองพี่น้องสตรีผู้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้หญิงก็มีบทบาทในสงครามทางอ้อมด้วย เช่น พยาบาลภาคสนามที่ทำหน้าที่รักษาทหารที่บาดเจ็บ, นางสนมคนรับใช้ที่ติดตามไปปรนนิบัติเจ้านายของตนในสมรภูมิ และคนงานหญิงที่ทำงานในโรงงานผลิตเครื่องกระสุนและอาวุธให้กองทัพ เป็นต้น บทบาทของเพศสภาวะที่แตกต่างแต่เกื้อหนุนกันในแต่ละสังคมมีส่วนขับเคลื่อนให้สงครามดำเนินไปทั้งทางตรงและทางอ้อม และเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังใหม่ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์การทหาร 

ดังสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า แม้ประวัติศาสตร์การทหารจะมีความหมายเพียง “ประวัติศาสตร์ของสงครามและการทำสงคราม” แต่ขอบเขตของความหมายนั้นกว้างขวางมากและผูกพันกับประวัติศาสตร์กระแสหลักทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การศึกษาประวัติศาสตร์การทหารจึงมิควรละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์แขนงอื่น เพื่อให้ได้ภาพของประวัติศาสตร์การทหารที่ชัดเจนสมบูรณ์มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาเองคือผู้ที่กำหนดขอบเขตของการศึกษาของตนตามระดับความสนใจ ประวัติศาสตร์การทหารจึงมีการจัดแบ่งระดับของเนื้อหาตามกลุ่มผู้สนใจไว้คร่าว ๆ กลุ่มผู้สนใจดังกล่าวคือใครบ้าง? และเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะเช่นไร?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น