วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (8) : อารยธรรมอิสลาม



ประวัติศาสตร์การทหารของอารยธรรมอิสลาม

ในดินแดนอาระเบียซึ่งเป็นพื้นที่การขยายอิทธิพลระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกกลาง อารยธรรมใหม่และกลุ่มอำนาจใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 7 นั่นคือ อารยธรรมอิสลาม โดยมีศูนย์กลางแห่งแรกที่เมืองมักกะห์หรือเมกกะ (Mecca) เมืองแห่งนี้เป็นหนึ่งในเมืองที่พัฒนาตนเองจากชุมชนอาหรับเร่ร่อนตามเส้นทางการค้าตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน และเริ่มเฟื่องฟูมากขึ้นเมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์พยายามขยายอิทธิพลแข่งขันกับจักรวรรดิเปอร์เซียในดินแดนอาระเบีย เพื่อผูกขาดการค้าสินค้าสำคัญ คือ ผ้าไหมจากจีนและเครื่องเทศจากอินเดีย ส่งผลให้เส้นทางสายไหมทางบกถูกรบกวนและเปลี่ยนเส้นทางมายังเส้นทางทางทะเล โดยเดินทางผ่านดินแดนอาระเบียและล่องเรือออกจากทะเลแดงเข้าสู่ทะเลอาระเบียและมหาสมุทรอินเดีย ก่อนออกเดินทางไปยังที่หมาย รวมทั้งเทคโนโลยีการเดินเรือและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การผลิตกระดาษจากเยื่อไม้ซึ่งแพร่กระจายจากจีนเข้าสู่อารยธรรมอิสลามประมาณค.ศ. 800 ช่วยในการจดบันทึกการเดินทางและวาดแผนที่ และกระดาษที่ผลิตด้วยกรรมวิธีนี้เก็บรักษาได้ง่ายและผลิตได้จำนวนมาก, การใช้ใบเรือสามเหลี่ยมที่รับลมได้หลายทิศทาง และวงวัดองศา (Astrolabe) ที่ช่วยให้ชาวเรือสามารถทราบตำแหน่งของตนเองในทะเลได้ เป็นต้น [1] ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้จักรวรรดิอิสลามสามารถมีอำนาจขึ้นมาท้าทายจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิเปอร์เซียที่ก่อตั้งมาก่อนหน้าได้


ภาพวงวัดองศาแอสโตรแลบ อุปกรณ์เดินเรือของชาวอาหรับยุคโบราณ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเซสแทนต์ (Sextant) ของชาวยุโรปในสมัยศตวรรษที่ 18



วิธีการใช้งานวงวัดวงศา
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/90/Astrolabe_%28PSF%29.png)



 ใบเรือรูปสามเหลี่ยมเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการเดินเรือที่สำคัญที่ช่วยให้เรือสามารถแล่นทวนกระแสลมได้และทำให้เรือบังคับง่ายขึ้น
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Inhambane-dhow.JPG)

อย่างไรก็ตาม แม้จักรวรรดิอิสลามจะเจริญเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจดินแดนตะวันออกกลาง แต่สังคมในจักรวรรดิให้ความสำคัญกับการพัฒนางานเขียนทางศาสนาและบทกวีเป็นหลัก ขณะที่มีงานเขียนทางประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อย และโลกภายนอกก็มิได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวข้องกับชาวอาหรับไว้มากเท่าใดนัก จนกระทั่งอีกเกือบศตวรรษ งานเขียนทางประวัติศาสตร์ของอาหรับจึงปรากฏและพัฒนาขึ้นภายใต้การถกเถียงระหว่างกลุ่มอำนาจสองกลุ่มคือ กลุ่มปราชญ์นักการศึกษาอิสลามและเคาะลิฟะห์หรือกาหลิบ (Caliph) ผู้นำทางศาสนาและการเมืองของอิสลาม โดยอ้างความชอบธรรมจากการสืบทอดสายเลือดจากศาสดาพยากรณ์มูฮัมหมัด ซึ่งประเด็นการถกเถียงหลักคือเรื่องแนวคิดการปกครองตามอุดมคติทางศาสนาอิสลามและระบบการทหารที่พัฒนาตนเองแยกออกจากสังคมมุสลิมมากขึ้น

เนื่องจากศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อชาวอาหรับมาก จึงทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ของอาหรับจึงมุ่งไปยังประวัติศาสตร์ช่วงต้นของอิสลามที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันและกล่าวถึงการทหารเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันตก รวมถึงการอธิบายความเป็นไปของประวัติศาสตร์ว่าเป็นประสงค์ขององค์อัลเลาะห์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ มีการสร้างงานเขียนจำพวกคู่มือทางทหารต่อเนื่อง [2] เช่น ตำราพิชัยสงคราม “Mukhtasar Siflsat al-Hurub” ของอบู ซาอิด อัล-ชาอรานี (Abu Sa’id al-Sha’srany al-Harthamy) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งมีเนื้อหาอธิบายกรอบโครงยุทธศาสตร์สงคราม หลักการทหาร ลักษณะของแม่ทัพที่ดี การเคลื่อนกำลัง การซุ่มโจมตี และอื่น ๆ เนื้อหาดังกล่าวนี้คล้ายคลึงกับตำราพิชัยสงครามของซุนวู, “ความรู้ในการหลบหนีเมื่อบาดเจ็บจากการต่อสู้ และการคลี่ธงสัญญาณสำหรับฝึกฝนอุปกรณ์และเครื่องจักรช่วยรบ” (Tabsirat arbab al-albab fi kayfiyat al-najah fi al-hurub min al-anwa' wa-nashr a'lam al-a'lam fi al-'udad wa-al-alat al-mu'inah 'ala liqa' al-a'da') ของมาร์ดิ อิบน์ อาลี อัล-ตาร์ซุซิ (Mardi ibn Ali al-Tarsusi) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญการสงครามผู้เขียนคู่มือสงครามให้แก่ซาลาดินเมื่อค.ศ. 1187 และงานเขียนของเขาเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่กล่าวถึงการคิดค้นเครื่องเหวี่ยงหินแบบน้ำหนักถ่วง (Counterweight trebuchet) และ “คำตักเตือนของอัล-ฮาราวีเรื่องกลอุบายสงคราม” (al-Tadhkira al-Harawiya fi al-hiyal al-harabiya) ในปีค.ศ. 1214 ของอาลี อิบน์ อบิ บาคร์ อัล-ฮาราวี (Ali ibn Abi Bakr al-Harawi) นักเดินทางชาวเปอร์เซียที่เข้าไปศึกษาการสงครามของกองทัพมุสลิมภาคสนามและสถานการณ์ปิดล้อม เป็นต้น [3]



 เครื่องเหวี่ยงหินแบบน้ำหนักถ่วงหรือที่รู้จักในชื่อ "เทรบูเช" (Trebuchet) ซึ่งเป็นเครื่องจักรปิดล้อมปราสาทที่มีชื่อเสียงมากในยุคกลาง
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Trebuchet2.png)

ภาพการสร้างเทรบูเชจำลองในกิจกรรมย้อนยุคประวัติศาสตร์สมัยกลางของตะวันตก จะเห็นได้ถึงขนาดของเทรบูเชที่ใช้ในสมรภูมิเมื่อครั้งอดีต และบางครั้งอาจจะมีกลไกเสริม เช่น วงล้อสำหรับดึงเชือกที่ผูกกับก้านเหวี่ยงทำให้การยิงกระสุนต่อเนื่องมากขึ้น หรือฐานแกนหมุนสำหรับการปรับทิศทางการยิงได้ เป็นต้น ด้วยขนาดอันใหญ่โต ทำให้เครื่องจักรเหล่านี้ต้องขนส่งมาประกอบกลางสนามรบและต้องการการคุ้มกันอย่างดี
(https://c1.staticflickr.com/7/6234/6279381320_ea66d28c38_z.jpg)

ต่อมาทั้งงานเขียนทางประวัติศาสตร์และทางทหารได้เฟื่องฟูขึ้นในช่วงสงครามครูเสดและการรุกรานของพวกมองโกล หนึ่งในนักประวัติศาสตร์ของโลกอิสลามที่เป็นที่รู้จักในช่วงนี้คือ อาลี อิบน์ อัล-อธีร์ (Ali ibn al-Athir) นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับผู้เขียน ประวัติศาสตร์ฉบับสมบูรณ์” (Al-Kamil fi at-Tarikh) ซึ่งเขาได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1189 และการรุกรานของพวกมองโกลช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 และอิบน์ คาลดุน (Ibn Khaldun) นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับตูนิเซียผู้เขียนเรื่อง อารัมถบทของคาลดุน” (Muqaddimah) ในปีค.ศ. 1377 ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์โลกที่มีการวิเคราะห์วัฏจักรการขับเคลื่อนอารยธรรมระหว่างวัฒนธรรมของชนเร่ร่อนกับอารยธรรมของอาณาจักร โดยอิบน์ คาลดุลมองว่า ทุกชุมชนมีสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน สายสัมพันธ์นี้จะแน่นแฟ้นมากในชุมชนแบบชนเผ่า แต่จะค่อย ๆ น้อยลงเมื่อชุมชนพัฒนาตนเองสูงขึ้นไปในระดับเมืองและรัฐ ซึ่งสายสัมพันธ์ที่ลดน้อยลงไปนี้อาจจะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มชนใหม่ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกว่า ซึ่งสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกนี้มีส่วนสำคัญต่อความเจริญและเสื่อมถอยของอารยธรรมอย่างเป็นวัฏจักร และชนเร่ร่อนมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการปฏิรูปฟื้นฟูทางการเมืองและการอ้างความชอบธรรม [4] นอกจากประวัติศาสตร์โลกแล้ว งานเขียนของอิบน์ คาลดุนเป็นหนึ่งในงานเขียนจำนวนน้อยของโลกอิสลามที่มีการวิเคราะห์และวิจารณ์ประวัติศาสตร์การทหารของยุคสมัยก่อนหน้า โดยเฉพาะการทหารของอาณาจักรอิสราเอลสมัยโมเสส ซึ่งเขามองว่า หลักฐานในอดีตกล่าวอ้างเกินจริง โดยพิจารณาวิเคราะห์ถึงสภาพภูมิศาสตร์และความสามารถในการขนส่งกำลังบำรุง รวมทั้งอ้างอิงจักรวรรดิเปอร์เซียเป็นตัวอย่าง [5]



 ภาพวาดใบหน้าของอิบน์ คาลดุน ซึ่งวาดเมื่อปีค.ศ. 2012 เป็นภาพจากจินตนาการ
(http://en.wikipedia.org/wiki/File:Ibn_Khaldun.jpg)

นอกจากนี้ อิบน์ คาลดุนยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกในเรื่อง “วิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์” [6] ซึ่งเขามุ่งเน้นว่า นักประวัติศาสตร์ต้องมองอดีตเป็นสิ่งที่แปลกแตกต่างและต้องการการตีความ ทำให้หลักการศึกษาประวัติศาสตร์ที่จะมุ่งสู่ข้อเท็จจริงดั้งเดิมที่สุด คือ ยอมรับว่า วัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละยุคสมัยมีส่วนอย่างยิ่งต่อการประเมินประวัติศาสตร์, แยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ โดยมองถึงความเป็นไปได้ในการประเมิน และให้รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะมีประสบการณ์ในวัฒนธรรมนั้นด้วยตนเอง เพื่อให้เข้าถึงองค์ประกอบที่เป็นเหตุผลในวัฒนธรรมนั้น ขณะเดียวกัน เขาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้เรื่องเหนือธรรมชาติที่ไร้ประโยชน์มาอธิบายประวัติศาสตร์และการยอมรับข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างไม่มีวิจารณญาณว่า ไม่ใช่การศึกษาประวัติศาสตร์ รวมทั้งนำระเบียบวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในยุคสมัยของเขา และชี้ให้เห็นถึง “อคติในข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ” (Systemic bias) ที่จะส่งผลต่อกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้ได้หายไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงจะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาศึกษาอีกครั้ง

จากความสามารถของอิบน์ คาลดุนนี้ เขาจึงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์สมัยหลังว่า เป็น “บิดาแห่งการเขียนประวัติศาสตร์” แต่กระนั้น ในยุคสมัยของเขา เขากลับไม่ได้รับความนิยมมากเท่าใด สันนิษฐานว่า  ด้วยความไม่ไว้วางใจระหว่างอิบน์ คาลดุนกับอบู อิ-อับบาส ผู้ปกครองเมืองตูนิสเมื่อค.ศ. 1378 และงานเขียนที่เป็นลักษณะ “ศาสตร์ใหม่” ทำให้งานของเขามิได้รับการยอมรับในหมู่ชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษา ณ เวลานั้น จนกระทั่งปีค.ศ. 1806 เมื่องานของเขาได้รับการแปลในโลกตะวันตกและนำมาซึ่งการทบทวนการศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่

[1] Stephen Morillo. Frameworks of World History (Combined Volume). (Oxford University Press, 2014), p. 236-237
[2] Stephen Morillo and Michael F. Pavkovic. What is Military History? (Polity Press, 2014), p. 26
[3] A. Rahman Zaky. A preliminary bibliography of medieval Arabic military literature” in Gradius Vol.4 (Instituto de Estudios Sobre Armas Antiguas, 1965), p. 107-108 (http://gladius.revistas.csic.es/index.php/gladius/article/viewFile/191/193)
[5] Ibid. 
[6] อิบน์ คาลดุนกล่าวถึง ข้อผิดพลาดของนักประวัติศาสตร์ในยุคก่อนหน้าของเขาไว้ 7 ประการได้แก่ 1. โน้มเอียงเข้าข้างหลักศาสนาหรือความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง, 2. มั่นใจแหล่งข้อมูลมากเกินไป, 3. ล้มเหลวในการเข้าใจสิ่งที่เจตนาสื่อ, 4. มีความเชื่อผิด ๆ ในความจริง, 5. ไม่สามารถมองเหตุการณ์ตามบริบทที่เป็นจริงของเหตุการณ์นั้น, 6. ต้องการยศศักดิ์ด้วยการยกยอเรื่องราวนั้นและกระจายชื่อเสียง และ 7. ที่สำคัญที่สุดคือ ละเลยกฎที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น