วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (12) : คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1




ประวัติศาสตร์การทหารในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1


เนื่องจากสงครามนโปเลียนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รูปแบบสงครามเปลี่ยนแปลงไป กองทัพมีขนาดใหญ่ขึ้น ต้องการการจัดระเบียบและระบบการสงครามรูปแบบใหม่ขึ้นมารองรับ ต้องการระบบการสื่อสารถ่ายทอดคำสั่งแบบใหม่ที่ทำให้แม่ทัพสามารถล่วงรู้สถานการณ์ล่าสุดอย่างรวดเร็วและสามารถออกคำสั่งได้ทันที เทคโนโลยีอาวุธสูงขึ้นอย่างปืนไรเฟิลก็ทำให้กองทหารแม่นปืนและการรบแบบกองโจรตัดกำลังเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น การเขียนประวัติศาสตร์การทหารจึงมุ่งเน้นไปสู่การสร้างคู่มือสงครามมากขึ้น เพื่อเผยแพร่ทฤษฎีการสงครามและการจัดการกองทัพที่จะนำไปสู่ชัยชนะ โดยมีผู้เขียนสำคัญสองคนหลักคือ อองตวน-อองรี โชมินี (Antoine-Henri Jomini) นายพลชาวสวิสซ์สังกัดกองทัพนโปเลียนก่อนแปรพักตร์ไปสังกัดกองทัพรัสเซียภายหลัง และ คาร์ล ฟอน เคลาเซวิตส์ (Carl von Clausewitz) นายทหารปรัสเซียที่ต่อสู้กับกองทัพนโปเลียน


หนังสือเรื่อง "สู่สงคราม" (On war) ของเคลาเซวิตส์คือหนึ่งในตำราพิชัยสงครามสมัยใหม่ที่มองสงครามเป็นหนึ่งในวิถีการฑูตที่ใช้บีบบังคับให้อีกฝ่ายยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายเรา และมองกระบวนการดำเนินสงครามเป็นหลักการที่ตายตัวที่จะสามารถนำไปใช้ได้ในทุกการรบ เพื่อให้ได้ชัยชนะ ซึ่งทัศนคติดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นทั่วไปในช่วงคริสต์ศวรรษที่ 19 และยังส่งผลสืบเนื่องมาถึงกระบวนการคิดทางทหารในปัจจุบันในหลายประเทศ รวมทั้งกำลังกลายเป็นคู่มือวางแผนการทางธุรกิจควบคู่กับพิชัยสงครามของซุนวู
(http://img2.imagesbn.com/images/103830000/103839209.jpg)