ประวัติศาสตร์การทหารของยุโรปจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการถึงยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
ตลอดช่วงเวลาที่ยุคกลางในยุคโรปตะวันตกดำเนินไป
ปัจจัยต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนที่มีต่อสังคมในยุคกลาง
อาทิ
- ระบบเศรษฐกิจเงินตราที่เกิดขึ้นประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่
11 ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนเป็นเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายในระดับท้องถิ่นและเป็นจุดเชื่อมต่อกับเมืองอื่น
ๆ สร้างเป็นเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานรองรับเส้นทางการค้าและการเผยแพร่ความรู้
แม้ว่าเมืองจะมิใช่สิ่งใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมกรีก-โรมันในยุคก่อนหน้า แต่ชาวเมืองยังคงอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมชนบทที่ให้ความสำคัญกับการเกษตร
และยอมรับอำนาจของผู้ปกครองที่เหนือกว่าจากสิทธิธรรมตามลัทธิ-ศาสนาโบราณ ต่างจากชาวเมืองในยุคกลางที่ปลีกตนเองออกจากสังคมชนบทตามระบบฟิวดัลมาใช้ชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระในเมือง
ทำให้ชนชั้นระดับล่างสามารถปลดปล่อยตนเองจากการเป็นทาสติดที่ดิน
มีโอกาสเลือกหนทางในการดำเนินชีวิตมากขึ้นแทนที่การผูกตนเองไว้กับการเกษตรเพียงอย่างเดียว
และขึ้นมามีอำนาจต่อรองกับชนชั้นเจ้าของที่ดิน เนื่องจากเมืองมีระบบการปกครองตนเองเป็นเอกเทศจากระบบฟิวดัล
แม้ว่าเมืองจะตั้งอยู่บนที่ดินของขุนนาง แต่ขุนนางไม่มีอำนาจเหนือเมือง ขณะเดียวกันที่ชนชั้นนำและนักบวชระดับล่างระดับล่างเริ่มสูญเสียอำนาจและที่ดินจากการใช้จ่ายทรัพย์ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
เพื่อแสดงฐานะทางสังคมและการยอมรับในหมู่ชนชั้นเดียวกัน เนื่องจากชนชั้นนำและนักบวชที่เป็นเจ้าของที่ดินมีทรัพย์สินหลักคือ
ที่ดิน ส่วนเงินตราเป็นทรัพย์สินเพิ่มเติม จึงมิได้ระมัดระวังการใช้จ่าย [1]
และทำให้เกิดชนชั้นกลางอันเกิดจากกลุ่มชนที่ปลดเปลื้องตนเองเป็นเสรีชนจากระบบฟิวดัล
เข้ามาพำนักอาศัยและประกอบอาชีพในเมือง ซึ่งทำให้เกิดวัฒนธรรมเมืองที่เริ่มปฏิเสธการดำเนินชีวิตเพื่อความสุขในโลกหน้าเพียงอย่างเดียวตามคำสอนของศาสนจักร
และคุณค่าของระบบฟิวดัลที่ยกย่องเพียงวีรกรรมของชนชั้นนำนักรบ และชนชั้นกลางนี้เป็นกำลังสำคัญในการปลดเปลื้องเมืองออกจากอำนาจในระบอบฟิวดัล
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในคาบสมุทรอิตาลีปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่ชาวเมืองสาบานร่วมเป็นพันธมิตรตั้งเป็นคอมมูน
(Commune)
ร่วมมือกับขุนนางผู้น้อยล้มอำนาจขุนนางชั้นสูง [2]
- การเกิดเมืองและสถาบันการปกครองเมืองที่แยกเป็นเอกเทศจากระบบฟิวดัลนำมาซึ่งความคิดที่ชาวเมืองรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน
เนื่องจากชาวเมืองต้องการการปกครองและการบริหารจัดการที่ตอบสนองความต้องการของตนและให้ความคุ้มครองพวกตนจากอำนาจของขุนนาง
จึงเกิดสมาคมช่างฝีมือและพ่อค้าหรือ “กิลด์” (Guild) ขึ้นซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากตัวแทนของแต่ละอาชีพในเมืองขึ้นมาดูแลผลประโยชน์
ตอบสนองความต้องการของชาวเมือง และเป็นตัวแทนติดต่อกับเมืองอื่นและขุนนางเจ้าของที่ดินที่ตั้งเมือง
อีกทั้งชาวเมืองจึงมีความรู้สึกว่า ผู้ปกครองของตนควรเป็นสมาชิกของเมืองและทำหน้าที่เพื่อความสุขของสมาชิกในเมือง
ความรู้สึกดังกล่าวนี้จะนำมาซึ่งแนวคิดเรื่องชาติและการสร้างรัฐชาติในเวลาต่อมา
ศูนย์กลางเมืองเก่าของโบลอนญาซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโบลอนญา มหาวิทยาลัยแห่งโลก ก่อตั้งในปีค.ศ. 1088 และปัจจุบันยังดำเนินการสอนอยู่ ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่ก่อตั้งโดยชนชั้นนำทางการเมือง เพื่อแข่งอำนาจกับโรงเรียนศาสนาในอำนาจของศาสนจักร
(http://en.wikipedia.org/wiki/University_of_Bologna)
(http://en.wikipedia.org/wiki/University_of_Bologna)
- การเกิดขึ้นของสถาบันการศึกษาซึ่งพัฒนาตนเองด้วยการรับแบบอย่างการจัดการจากสมาคมช่างฝีมือและพ่อค้า
[3] ก่อให้เกิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่แยกตัวออกจากองค์กรทางศาสนา และสอนสรรพวิชาความรู้ทางโลกมากขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่
12 ซึ่งในช่วงต้นยุคกลาง การศึกษาเป็นกิจของนักบวชเพื่อเรียนรู้คำสอนของพระคัมภีร์ไบเบิล
และคัดลอกคำสอนเป็นสำเนาสำหรับใช้เผยแผ่ศาสนายังพื้นที่อื่นและป้องกันการสูญหาย เมื่อเครือข่ายของศาสนจักรแผ่ขยายขว้างขวางมากขึ้น
จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการจัดการองค์กรรองรับ และนำมาซึ่งการปฏิรูปของพระสันตะปาปาเกรกอเรี่ยนที่
7 ในปีค.ศ. 1050-1080 ทำให้เกิดการสอนวิชาตรรกะ, กฎหมาย, การถกเถียง, เทววิทยา และการทำบัญชี เพื่อนำมาใช้ในการจัดการบริหารและการเงินขององค์กรศาสนจักร
ต่อมาวิชาความรู้ดังกล่าวค่อย ๆ เผยแพร่สู่บุคคลนอกองค์กรทางศาสนามากขึ้นผ่านการจ้างสอนส่วนตัว
และนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรการศึกษาในเมืองและการก่อตั้งมหาวิทยาลัย
- การฟื้นฟูระบอบรัฐรวมศูนย์เกิดขึ้นในลักษณะต่าง
ๆ กันทั่วทั้งยุโรปตะวันตก ในแว่นแคว้นอิตาลี เมืองซึ่งได้รับความมั่งคั่งจากการค้าสามารถสถาปนาอำนาจจากการร่วมมือของชาวเมืองกับขุนนางชั้นผู้น้อยจัดตั้งเป็นคอมมูน
ขึ้นมาล้มล้างอำนาจของขุนนางผู้ใหญ่, ในฝรั่งเศส กษัตริย์เริ่มมีอำนาจเหนือขุนนางใต้ปกครองมากขึ้นจากสาเหตุหลายประการ
เช่น พิชิตดินแดนของอังกฤษบนภาคพื้นทวีป เมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูค้าส่งเสริมให้กษัตริย์มีอำนาจเป็นคนกลางในการตัดสินคดีความมากขึ้น
และการสร้างระบบราชการโดยกษัตริย์ขึ้นรองรับดินแดนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทัดเทียมชนชั้นนำท้องถิ่น
และมิได้ทำลายประเพณีหรือสถาบันท้องถิ่นทำให้ประชาชนเริ่มเชื่อมั่นความมั่นคงและการได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลของกษัตริย์มากกว่าการปกครองโดยขุนนาง,
ในอังกฤษ อำนาจของกษัตริย์เริ่มฟื้นฟูขึ้นจากการจัดการระบบการเมือง เศรษฐกิจ
และกระบวนการยุติธรรม แต่การใช้อำนาจของพระองค์ที่คุกคามขุนนางและการสูญเสียแว่นแคว้นของอังกฤษบนภาคพื้นทวีป
ทำให้เหล่าขุนนางรวมตัวกันจำกัดอำนาจของกษัตริย์ภายใต้กฎหมายและความเห็นชอบของขุนนาง
ขณะเดียวกันการรวมกลุ่มของขุนนางนี้นำไปสู่การรวมอำนาจการปกครองและการตัดสินใจสู่ศูนย์กลางที่รัฐสภา
- สงครามครูเสดที่เกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่
11-13 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนที่มีต่อศาสนจักรที่ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างแย่งชิงความมั่งคั่งจากพวกนอกศาสนา
และขยายฐานการเก็บภาษีอุทิศศาสนาในดินแดนของรัฐครูเสด ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในคำประกาศ
95 ข้อของมาร์ติน ลูเธอร์ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปศาสนา ทัศนคติดังกล่าวได้สนับสนุนการพัฒนาระบอบการเมืองที่เป็นอิสระจากอำนาจทางศาสนามากขึ้น
นอกจากนี้ สงครามครูเสดยังทำให้องค์ความรู้ศิลปวิทยาการสมัยกรีก-โรมันที่เก็บรักษาไว้โดยจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิอิสลาม
ได้แพร่หลายกลับมายังยุโรปตะวันตกผ่านการค้ากับเมืองท่าอิตาลี โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามครูเสดครั้งที่
4 ในปีค.ศ. 1204 และภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในปีค.ศ. 1453 ชาวไบแซนไทน์ที่มีการศึกษาก็อพยพหนีมายังฝั่งตะวันตกเป็นจำนวนมากพร้อมสรรพวิชาความรู้และตำราต่าง
ๆ
ชาน์น ดาร์ค (Jeanne d'Arc) หรือโจนออฟอาร์ค (Joan of Arc) วีรสตรีของกองทัพฝรั่งเศสในสงครามร้อยปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่นำความเชื่อทางศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกเป็นสื่อกลางที่ยึดเหนี่ยวให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกัน โดยที่ศูนย์กลางของความรู้สึกนั้นรวมศูนย์ที่กษัตริย์ฝรั่งเศสในฐานะผู้ได้รับความชอบธรรมจากพระเจ้าและเป็นผู้พิทักษ์ศาสนา อาจกล่าวได้ว่า การกระทำของชาน์น ดาร์คเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเรื่องชาติของฝรั่งเศส
(http://en.wikipedia.org/wiki/Joan_of_Arc)
- สงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.
1337-1453 ส่งผลให้เกิดสำนึกในเรื่องความเป็นพวกเดียวกันทั้งในหมู่ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษอันจะนำไปสู่แนวคิดการสร้างรัฐชาติในเวลาต่อมา
โดยเฉพาะในฝรั่งเศสซึ่งนอกจากการสร้างรัฐชาติแล้ว ยังนำไปสู่การสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่ระบอบกษัตริย์ด้วย
ภาพพลธนูยาวของฝ่ายอังกฤษในสมรภูมิอแจงกูรต์ (Battle of Agincourt) ซึ่งฝ่ายอังกฤษใช้ยุทธวิธีคล้ายคลึงกับที่สมรภูมิเครซี่ (Battle of Crécy) ก่อนหน้า ใช้พลธนูวางขวากหนามดักข้างหน้าป้องกันการบุกโจมตีจากอัศวินบนหลังม้า และด้วยพื้นที่สมรภูมิที่เป็นพื้นโคลนขนาบด้วยป่าทึบทั้งสองด้าน ทำให้การบุกโจมตีด้วยอัศวินบนหลังม้ากระทำได้ลำบาก ขณะที่พลธนูและทหารราบมีความคล่องตัวมากกว่า และด้วยยุทธวิธีฝนธนูของฝ่ายอังกฤษ ทำให้แม้ชุดเกราะของอัศวินฝรั่งเศสจะมีการป้องกันที่ดี แต่การตกอยู่ภายใต้การระดมยิงก็ทำให้ชุดเกราะซึ่งมิใช่เหล็กกล้าเสียหาย และอัศวินเสียขวัญจากความสับสนวุ่นวายอันเกิดจากการเคลื่อนที่ที่จำกัดและฝนลูกธนู
(http://www.lacedemon.info/)
ภาพวาดทหารม้าเบา "ฮอบเบลาร์" (Hobelar) ของเกมกระดาน Ex illis ซึ่งฮอบเบลาร์เป็นยุทธวิธีที่อังกฤษใช้สอดแนมและทำสงครามกองโจรตัดกำลังฝ่ายฝรั่งเศส โดยอาศัยความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศยากลำบากอย่างรวดเร็ว และสามารถทำการโจมตีได้ทั้งยุทธวิธีของทหารม้าและทหารราบ
(http://ex-illis.com/wikien/Hobelars)
ภาพวาดทหารม้าเบา "ฮอบเบลาร์" (Hobelar) ของเกมกระดาน Ex illis ซึ่งฮอบเบลาร์เป็นยุทธวิธีที่อังกฤษใช้สอดแนมและทำสงครามกองโจรตัดกำลังฝ่ายฝรั่งเศส โดยอาศัยความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศยากลำบากอย่างรวดเร็ว และสามารถทำการโจมตีได้ทั้งยุทธวิธีของทหารม้าและทหารราบ
(http://ex-illis.com/wikien/Hobelars)
ขณะเดียวกัน สงครามร้อยปีก็ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการทหารอย่างมาก
ทัศนคติที่ให้ความสำคัญกับอัศวินชุดเกราะหนักบนหลังม้าเป็นปัจจัยหลักในการรบเริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่การใช้กองกำลังทหารราบควบคู่กับกองพลธนูจำนวนมาก
และการใช้ทหารม้าเบาในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและสามารถผ่านภูมิประเทศที่อัศวินชุดเกราะหนักเคลื่อนที่ผ่านได้ยากลำบาก
ซึ่งส่งผลให้บทบาทของอัศวินในอังกฤษลดน้อยลงทั้งทางทหารและทางการเมือง
ภาพวาดสีน้ำมันชื่อ "ชัยชนะของความตาย" (The Triumph of Death) ปีค.ศ. 1562 ของปิเอเตอร์ บรัวเกลผู้พ่อ (Pieter Bruegel the Elder) ซึ่งได้แรงบันดาลจากเหตุการณ์กาฬโรคระบาด
- เหตุการณ์กาฬโรคระบาดทั่วทั้งทวีปยุโรปในค.ศ.
1346-1353 ฆ่าประชากรในยุโรปไปประมาณ 35 ล้านคน ทำให้ที่ดินจำนวนมากไม่มีเจ้าของและเกิดการขาดแคลนแรงงาน
ผู้ที่รอดชีวิตอยู่จึงได้รับประโยชน์จากการสูญเสียครั้งใหญ่นี้มาก ชาวนาสามารถเป็นเจ้าของที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ได้ในราคาถูก
สามารถสร้างผลผลิตได้จำนวนมาก และกลายเป็นชาวนาที่มั่งคั่ง ขณะเดียวกัน การขาดแคลนแรงงานในระบบการผลิตของสมาคมช่างฝีมือทำให้กรรมาชีพมีอำนาจต่อรองค่าจ้างได้มากขึ้น
เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเมืองไปยังเมืองที่เสนอค่าจ้างให้มากกว่า [4] และนำมาซึ่งการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำเจ้าของที่ดินกับชาวนามากขึ้น
เนื่องจากแรงงานการเกษตรในที่ดินเคลื่อนย้ายจากไปทำงานในเมืองที่ให้ผลประโยชน์มากกว่า
- พฤติกรรมและภาพลักษณ์ของเหล่านักบวชระดับสูงที่สะสมทรัพย์และดำเนินชีวิตแบบมั่งคั่งดุจขุนนางนับตั้งแต่การปฏิรูปองค์กรศาสนจักรในสมัยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่
5 เมื่อค.ศ. 1313 ซึ่งทำให้ศาสนจักรมีรายได้จำนวนมากจากช่องทางต่าง ๆ ทั้งเงินอุทิศศาสนาหรือ
“ทิธส์” (Tiths), ภาษีจากผลผลิตปีแรกในที่ดินของบิชอป
และภาษีอื่น ๆ รวมทั้งการขายใบไถ่บาป (Indulgence) ภาพลักษณ์ดังกล่าวขัดแย้งกับภาพลักษณ์ตามคำสั่งสอนที่เผยแผ่ยังผู้คนชั้นล่าง
อีกทั้งการย้ายศาสนจักรไปอยู่ใต้อิทธิพลของราชสำนักฝรั่งเศสที่อาวิยง (Avignon)
ทำให้ศาสนจักรถูกมองว่า เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของตนเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง
เมื่อมีการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่
11 เมื่อปี ค.ศ. 1378 การลงคะแนนเสียงเลือกพระสันตะปาปากลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น
เกิดการแบ่งฝ่ายผู้ยอมรับสันตะปาปาระหว่างฝ่ายสนับสนุนศาสนจักรที่อาวิยงกับฝ่ายสนับสนุนศาสนาจักรที่โรม
[5] นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแตกแยกศาสนจักรตะวันตกและนำมาซึ่งกระแสการปฏิรูปศาสนา
ภาพพิมพ์บล๊อคไม้ในหนังสือ "Passional Christi und Antichristi" ของมาร์ติน ลูเธอร์ วาดโดยจิตรกรลูคัส ครานาชผู้พ่อ (Lucas Cranach the Elder) ซึ่งแสดงถึงการขายใบไถ่บาปโดยพระสันตะปาปา และมาร์ติน ลูเธอร์ใช้ประเด็นดังกล่าวนี้ต่อต้านศาสนจักรว่า พระสันตะปาปาคือศัตรูของพระคริสต์ เพราะอำนาจในการไถ่บาปนั้นเป็นของพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ใบไถ่บาปคือสิ่งแสดงความละโมบของศาสนจักรที่แสวงหากำไรจากความศรัทธา
(http://en.wikipedia.org/wiki/Indulgence)
(http://en.wikipedia.org/wiki/Indulgence)
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงจารีตของยุคกลางที่เป็นอยู่
และนำมาซึ่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ปรัชญา และประวัติศาสตร์ของอารยธรรมกรีก-โรมัน โดยมีเทคโนโลยีการพิมพ์เป็นเครื่องมือกระจายแนวคิดใหม่เหล่านั้น
ซึ่งเครื่องพิมพ์ทำให้ความรู้แพร่หลายมากขึ้นและทำให้การศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดินปืนที่แพร่กระจายเข้าสู่ยุโรปเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่
14 และการจัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับการทำสงครามโดยรัฐรวมศูนย์ ทำให้เกิดการทดลองและการเปลี่ยนแปลงการทหารอย่างต่อเนื่องในเวลาอันสั้น
เพื่อตอบสนองต่อการขยายอำนาจของราชสำนักในคริสต์ศตวรรษที่ 16
ปัจจัยดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างงานเขียนทางทหารด้วย
ซึ่งงานเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการนี้คือ งานเขียนของนักประวัติศาสตร์และการฑูตฟลอเรนซ์
นิคโคโล แมคเคียเวลลี่ (Niccolò
Machiavelli) สามชิ้นที่สำคัญได้แก่ “เจ้าผู้ปกครอง”
(Il Principe), “พิชัยสงคราม” (Dell'arte della guerra) และ “การถกเถียงประวัติศาสตร์จากงานเขียนของลิวี่”
(Discorsi sopra la prima deca di Tito Livio) งานเขียนทั้งสามแสดงถึงผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์เป็นอย่างดี
และแสดงถึงอิทธิพลของงานเขียนยุคคลาสสิคที่ส่งผลต่อการวิเคราะห์การเมืองและการทหารตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากกว่าตามอุดมคติ
ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของแมคเคียเวลลี่คือ การจัดตั้งกองทหารประจำการจากผู้คนในรัฐ ซึ่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่
15 กองทัพทหารรับจ้าง “คอนดอทเตียรี” (Condottieri) [6] กลายเป็นปัญหาต่อฟลอเรนซ์อย่างมาก เนื่องจากกองทหารเหล่านี้มักแปรพักตร์โดยไม่มีทางรู้ล่วงหน้า
และมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการทำตามสัญญาจ้าง แมคเคียเวลลี่จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการจัดตั้งกองทหารประจำการที่มาประชาชนในฟลอเรนซ์
ซึ่งประสบความสำเร็จในการรบหลายครั้งและพิชิตเมืองปิซ่าได้สำเร็จในปีค.ศ. 1509 แม้ในภายหลัง
กองทัพฟลอเรนซ์ของแมคเคียเวลลี่จะพ่ายแพ้กองทัพสเปนของตระกูลเมดิซีในปีค.ศ. 1512 แต่แนวคิดเรื่องกองทัพประจำการโดยประชาชนแห่งรัฐมิได้สูญหายและเริ่มปลูกฝังพร้อมกับแนวคิดเรื่องรัฐชาติที่จะเกิดขึ้นภายหลังสงครามศาสนาบนภาคพื้นทวีปและการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ
ภาพแสดงยุทธวิธี "แหลนและปืน" (Pike and Shot) ซึ่งเป็นยุทธวิธีมาตรฐานของกองทัพยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งพลแหลนมีหน้าที่รับการปะทะกับทหารม้าและพลแหลนด้วยกัน ขณะที่พลปืนจะยิงตัดกำลังไปเรื่อย ๆ ขณะที่กองพลแหลนเคลื่อนเข้าหาฝ่ายตรงข้าม หากมีทหารม้าบุกเข้าใกล้ พลปืนจะเข้าไปหลบในกองพลแหลน ยุทธวิธีการรบดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ยุทธวิธี "ฟาลังซ์" (Phalanx) ของฮอปไลต์สมัยกรีก แต่ต่อมาเทคโนโลยีปืนไฟได้พัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเป็นปืนพกและปืนคาร์ไบน์ที่ทหารม้าจะสามารถพกพาได้ ทหารม้าจึงมีอาวุธและยุทธวิธีที่จะนำมาใช้ต่อกรกับกองทหารราบพลแหลน
(https://crossfireamersfoort.files.wordpress.com/2012/07/nrdlingenterciotorralto.jpg)
(https://crossfireamersfoort.files.wordpress.com/2012/07/nrdlingenterciotorralto.jpg)
การเกิดขึ้นของแนวคิดกองทัพประจำการได้นำมาซึ่งการกลับมาของงานเขียนทางทหารในรูปแบบของคู่มือสงครามในยุโรปตะวันตกที่ได้หยุดนิ่งไปในช่วงปลายยุคสมัยจักรวรรดิโรมัน โดยปรับปรุงยุทธวิธีการสงครามจากสมัยกรีก-โรมันผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีปืนไฟขนาดเล็กและปืนใหญ่ (รวมทั้งหน้าไม้และธนู) ทำให้เกิดรูปแบบการรบที่เป็นรูปขบวนของกองทหารราบพลแหลนจำนวนมากที่ทำการรบควบคู่กับทหารราบพลปืน หรือผสมผสานกับพลหน้าไม้และพลธนู (Pike and Shot) นอกจากยุทธวิธีของทหารแล้ว งานเขียนคู่มือทางทหารยังรวมถึงการสร้างป้อมปราการรูปแบบใหม่ที่อาศัยการคำนวนทางคณิตศาสตร์เรขาคณิตเพื่อป้องกันการโจมตีด้วยปืนใหญ่ และการคำนวนอัตราส่วนดินปืนและน้ำหนักกระสุนเพื่อคำนวนวิถีกระสุนด้วย [7] ซึ่งคู่มือดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงมุมมองทางทหารที่เปลี่ยนแปลงไป แนวคิดการอุทิศตนเพื่อคุณค่านักรบอัศวินและความเชื่อเรื่องการกำหนดชะตากรรมของสงครามโดยพระเจ้าเริ่มหมดอิทธิพลลง และเปลี่ยนไปสู่แนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์การทหารที่มองว่า ยุทธวิธีการรบที่เหมาะสมและการศึกษาการรบในอดีตอย่างมีเหตุผลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำกองทัพไปสู่ชัยชนะของสงคราม นอกจากคู่มือสงครามแล้ว งานเขียนประเภทบันทึกความทรงจำจากทหารและงานเขียนทางประวัติศาสตร์ทั้งประวัติศาสตร์ทั่วไปและประวัติศาสตร์การทหารต่างแพร่หลายมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ และเริ่มมีรูปแบบการเขียนที่ตอบสนองต่อความนิยมทางตลาดมากขึ้นกว่าในอดีตที่งานเขียนประวัติศาสตร์การทหารตอบสนองเพียงผู้สนใจเฉพาะกลุ่ม
เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นทั่วทั้งยุโรปอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ
เช่น การปฏิรูปศาสนาที่ทำให้เกิดนิกายโปรแตสแตนต์และมหาสงครามระหว่างนิกายโรมันคาทอลิกกับนิกายโปรแตสเตนต์ที่ยาวนานถึง
124 ปีตั้งแต่ปีค.ศ. 1524-1648, การค้นพบทวีปอเมริกาที่ทำลายความเชื่อเรื่องโลกแบนที่สั่งสอนโดยศาสนจักรยุคกลาง
กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือ การขยายอำนาจทางทะเลทั้งทางทหารและการค้า
การก่อตั้งอาณานิคมการค้าโพ้นทะเล และการไหลบ่าของแร่เงินจากเหมืองในอเมริกา,
ลัทธิพานิชยชาตินิยมที่สนับสนุนให้รัฐสะสมโลหะมีค่า ขยายอาณานิคมเพื่อการค้า
และตั้งกำแพงภาษีกีดกันการค้าจากต่างชาติ, การควบรวมรัฐและการเปลี่ยนผ่านอำนาจของรัฐจักรวรรดิในยุโรปภายหลังมหาสงครามศาสนา
เป็นต้น
ปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลเปลี่ยนแปลงการเมืองก่อให้เกิดรัฐรวมศูนย์ที่สมบูรณ์ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบรัฐสภา
โดยมีกองทัพประจำการขนาดใหญ่ที่จัดตั้งอย่างเป็นระบบองค์กรภายใต้อำนาจของรัฐบาลกลาง, ทำให้เงินตรากลายเป็นมาตรฐานสื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนกันในสังคม
และสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องทางโลกและการใช้เหตุผลมากขึ้นจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่
1660 จากการก่อตั้ง “ราชสมาคมแห่งลอนดอน” (Royal
Society of London) ในอังกฤษและ “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์”
(Académie des sciences) ในฝรั่งเศส เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 แนวคิดทางสังคมนี้ได้พัฒนาเป็นกระแสการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาที่มุ่งการใช้เหตุผล
นิยมโลกวิสัย และมองโลกแง่ดีว่า โลกหรือสังคมจะพัฒนาดียิ่งขึ้นไป [8] กระแสดังกล่าวนี้คือ “ความรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา”
(the Enlightenment) อันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาการเขียนประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนี้
ซึ่งแม้จะกระบวนการทางประวัติศาสตร์ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาขัดเกลา แต่ลักษณะงานเขียนมีลักษณะที่เป็นสมัยใหม่
มุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุผลและเป็นอิสระจากอิทธิพลทางศาสนา
ภาพรัฐมนตรีการคลัง ชอง-บัปติสต์ โคล์แบรต์ (Jean-Baptiste Colbert) นำสมาชิกจำนวนหนึ่งเข้ากราบทูลกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 เพื่อขอพระบรมราชานุญาตจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เมื่อปีค.ศ. 1667
(http://en.wikipedia.org/wiki/French_Academy_of_Sciences)
(http://en.wikipedia.org/wiki/French_Academy_of_Sciences)
หนึ่งในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญา คือ “ประวัติศาสตร์อังกฤษ ตั้งแต่การพิชิตของจูเลียส ซีซาร์จนถึงการสละราชสมบัติของกษัตริย์เจมส์ที่ 2 เมื่อปีค.ศ. 1688” (The History of England, from the Invasion of Julius Caesar to the Abdication of James II, 1688) ของเดวิด ฮูม (David Hume) นักประวัติศาสตร์ชาวสก๊อตแลนด์ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระแสความรุ่งเรืองทางภูมิปัญญาในสก๊อตแลนด์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 งานเขียนประวัติศาสตร์อังกฤษของเขานี้เป็นงานเขียนที่ได้รับความนิยมมากและกลายเป็นมาตรฐานงานเขียนประวัติศาสตร์ของอังกฤษในยุคสมัยนั้นจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากลักษณะการเขียนที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเป็นมุมมองนอกสังคมวัฒนธรรมของอังกฤษ ซึ่งลักษณะการเขียนดังกล่าวมีลักษณะเป็นงานเขียนสมัยใหม่ที่เป็นศาสตร์มากกว่างานเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมและเหยียดชาติที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งที่ฮูมเข้าถึงหลักฐานได้จำกัดในยุคสมัยของเขา
งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่มีคุณค่าคือ “ประวัติศาสตร์การเสื่อมอำนาจและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน”
(The History of the Decline and Fall of the Roman Empire) ของเอ็ดวาร์ด
กิ๊บบอน (Edward Gibbon) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งงานเขียนของเขาได้แสดงถึงการในสำนวนการเขียนแบบเรียบ
ๆ คล้ายงานวิชาการสมัยใหม่ และมุ่งใช้หลักฐานชั้นต้นและวิพากษ์หลักฐานอย่างรอบคอบ ทำให้งานเขียนของเขายังคงเป็นงานเขียนที่เที่ยงตรงตามหลักเหตุผลและแสดงความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาและการเสื่อมอารยธรรมลงกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน
อย่างไรก็ตาม การเขียนประวัติศาสตร์มิได้มุ่งเน้นความสำคัญยังการทหารมากนัก
เนื่องจากนักประวัติศาสตร์ในยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญามองว่า สงครามเป็นสิ่งแสดงความเสื่อมทางศีลธรรม
แต่เรื่องราวของสงครามยังมีปรากฏในรูปของบันทึกความทรงจำและคู่มือทางทหารซึ่งสืบทอดมาจากในช่วงเวลาก่อนหน้านี้
แต่กระนั้น
สงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและยาวนานทั้งบนภาคพื้นทวีปและในอาณานิคมโพ้นทะเลตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่
18 จนถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1789 ได้กระตุ้นจำนวนงานเขียนเชิงการทหารทวีเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งประวัติศาสตร์การทหาร,
บันทึกเรื่องเล่าประสบการณ์จากสงคราม และคู่มือการทหารต่าง ๆ เช่น งานเขียนจำนวนมากของไรมอนโด
มงเตคุซคูลี (Raimondo
Montecucculi) แม่ทัพชาวอิตาลีของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งและแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั้งงานเขียนที่เป็นบันทึกความทรงจำอย่างเช่น
“บันทึกความทรงจำเรื่องสงคราม” (Memorie della
Guerra) และคู่มือสงคราม “ศิลปะการทหาร” (Dell’arte militare) งานเขียนของเขาได้บอกเล่าเรื่องราวภายในสังคมทหารของกองทัพจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
และแสดงถึงความพยายามแสวงหารูปแบบหลักการสงครามที่เป็นสากล ซึ่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่
19 แนวคิดนี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของงานเขียนเชิงคู่มือสงคราม โดยเฉพาะในฝรั่งเศส
ซึ่งนายทหารชั้นผู้น้อยจำนวนมากสร้างงานเขียนของตนเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์การทหารเลียนแบบผู้บัญชาการกองทัพของตน
และพยายามแสวงหากฎหรือหลักการทั่วไปที่ควบคุมทิศทางของสงคราม
หนึ่งในนายทหารเหล่านั้นคือ พันโทพอล์ กิเดอยง โชลี เดอ เมเซอโรย์ (Paul
Gideon Joly de Maizeroy) นายทหารผู้เชี่ยวชาญการสงครามยุคโบราณและเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกที่แยกแยะเรื่องยุทธศาสตร์ออกจากยุทธวิธี
ผังโครงสร้างของป้อมปราการที่สร้างด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อรับการโจมตีของปืนใหญ่ และต่อต้านการบุกรุกด้วยระบบคูน้ำและแนวกำแพงที่ออกแบบมาเพื่อให้ทหารสามารถยิงสนับสนุนจากป้อมชั้นในมายังป้อมนอกสุดได้ ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ต้องมีการคำนวนทางวิศวกรรมอย่างละเอียดและแม่นยำ
(http://www.carto.net/andre.mw/photos/2011/05/01_b_briancon/20110501-105438_principe_de_fortification_de_la_cite_vauban_de
_briancon.shtml)
_briancon.shtml)
จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการสู่ยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญาทั้งทางการเมืองที่รัฐรวมอำนาจสู่รัฐบาลกลาง, เศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนจากฟิวดัลสู่ทุนนิยม และสังคมที่เปลี่ยนทัศนคติจากการศรัทธาต่อพระเจ้าและเชื่อมั่นเพียงชะตาที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าไปสู่การตั้งคำถาม แสวงหาเหตุผล และวิทยาศาสตร์ การทหารก็ได้พัฒนาขึ้นคู่ขนานกันไปทั้งในเรื่องรูปแบบการรบและแนวคิด รวมถึงการเขียนประวัติศาสตร์การทหาร สงครามที่อัศวินสวมเกราะเหล็กทั้งร่างบนหลังม้าหุ้มเกราะเป็นผู้ครองสมรภูมิได้ผันเปลี่ยนไปสู่กองกำลังทหารราบที่รบแบบรูปขบวนเป็นแกนหลักของกองทัพควบคู่กับการยิงด้วยปืนใหญ่, ความนิยมทหารรับจ้างช่วงปลายยุคกลางเสื่อมลงจากความไม่น่าเชื่อถือและไว้ใจไม่ได้ เปลี่ยนไปสู่การจัดตั้งกองกำลังประจำการที่เกณฑ์ฝึกฝนจากประชาชนในรัฐ แม้ทหารรับจ้างยังคงเป็นหนึ่งในกองกำลังทั้งหมดของรัฐ แต่ก็มีสถานะและหน้าที่เพียงการคุ้มครองราชสำนัก มิใช่เป็นกองกำลังหลักแห่งรัฐอีกต่อไป, องค์กรทางทหารเริ่มแยกออกมาเป็นสังคมทหารออกจากสังคมของพลเรือน แม้ทหารยังคงเป็นพลเมือง แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่จะมีฐานะเป็นเครื่องมือของรัฐภายใต้การควบคุมของรัฐบาล มิได้เป็นชนชั้นในสังคมเหมือนดั่งเดิม, วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้ามามีบทบาทในการทหารอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งส่งผลให้งานเขียนประวัติศาสตร์การทหารพัฒนาไปสู่การศึกษาสงครามอย่างเป็นเหตุผลและเริ่มมุ่งแสวงหาหลักการสากลที่ควบคุมทิศทางของสงครามในศตวรรษต่อมา เพื่อให้กองทัพได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดแน่นอนในทุกสมรภูมิ
[1] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ
ฝรั่งเศสในกระแสเศรษฐกิจโลกจากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ. แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 2 (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2552),
หน้า 73
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า
55-56
[3] หนึ่งในหน้าที่ของสมาคมช่างฝีมือและพ่อค้าหรือกิลด์ต้องรับผิดชอบ
คือ การจัดตั้งโรงเรียนเพื่อสอนวิชาความรู้ให้แก่ลูกหลานของสมาชิก ซึ่งต่อมาวิธีการบริหารจัดการของกิลด์ได้นำมาใช้สร้างสมาคมนักปราชญ์นักการศึกษา
ทำให้เกิดเมืองการศึกษา เป็นพื้นฐานที่จะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งเมืองทั้งเมืองคือสถานศึกษา
[4] http://en.wikipedia.org/wiki/Consequences_of_the_Black_Death
[5] http://en.wikipedia.org/wiki/Western_Schism
[6] กองทหารรับจ้าง “คอนดอทเตียรี”
เป็นกองทหารรับจ้างมืออาชีพที่ให้บริการแก่นครรัฐอิตาลีและศาสนจักรผ่านการทำสัญญา
เนื่องจากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 แม้นครรัฐอิตาลีจะมีความมั่งคั่งจากการค้า แต่มีกองกำลังทหารประจำนครรัฐเพียงขนาดเล็ก
เมื่อนครรัฐถูกคุกคามจากรัฐที่เข้มแข็งอย่างเช่นฝรั่งเศสและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ขุนนางผู้ปกครองนครรัฐจำเป็นต้องจ้างกองทหารรับจ้างขึ้นมาต่อสู้กับฝ่ายรุกรานเป็นครั้งคราว
โดยนครรัฐมีเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาจ้างเป็นข้อกำหนดการว่าจ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป การที่กองทหารเหล่านี้สามารถผูกขาดอำนาจทางทหารในแว่นแคว้นอิตาลีไว้ได้และเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการว่าจ้างแทน
นำมาซึ่งการที่กองทหารรับจ้างเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองของแว่นแคว้นในอิตาลี อีกทั้งผู้บัญชาการกองทหารรับจ้างนี้ล้วนเป็นผู้ได้รับการศึกษา
เรียนรู้พิชัยสงครามจากงานเขียนสมัยโรมันที่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่ในยุคสมัยนี้ และมีมุมมองต่อสงครามในลักษณะวิทยาศาสตร์การทหารมากกว่าการอุทิศตัวเพื่อคุณค่านักรบดังเช่นอัศวินสมัยกลาง
ทำให้กองทหารรับจ้างเหล่านี้มุ่งหมายผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่จะได้รับ เช่น
เลือกต่อสู้ในสมรภูมิที่ตนเองจะได้รับชัยชนะเพื่อให้ได้ค่าจ้าง, หลีกเลี่ยงการทำสงครามหากการรบนั้นมิได้คุกคามกองทหารของตน, ยินดียุติการต่อสู้และรับสินบน รวมทั้งมีแนวโน้มยอมแพ้หรือแปรพักตร์เมื่อเผชิญกับกองทัพจากรัฐที่เข้มแข็งกว่า
[7] Stephen Morillo and Michael F.
Pavkovic. What is Military History? (Polity Press, 2014),
p. 27
[8] Ibid, p. 28
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น