วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (5) : โลกยุคจารีต



การเขียนประวัติศาสตร์การทหารในโลกยุคจารีต

กาลเวลาได้ผ่านพ้นไป ยุคสมัยแห่งจักรวรรดิได้สิ้นสุดลงจากการแตกแยกของอาณาจักรจีนสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นในช่วงค.ศ. 220 และการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ได้นำโลกเข้าสู่ยุคจารีตที่ศาสนามีอิทธิพลต่อการเมืองและสังคมทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ซึ่งศาสนาที่มีอิทธิพลนี้ได้แก่


 ภาพโปสเตอร์ของภาพยนต์เรื่องขงจื้อ


- ลัทธิขงจื้อ (Confucianism) ซึ่งถือกำเนิดในอาณาจักรจีนยุคชุนชิวประมาณ 551-479 ปีก่อนคริสตกาล ลัทธิขงจื้อเชื่อว่า มนุษย์จะมีศีลธรรมและประพฤติดีหากได้รับการศึกษา และการปฏิบัติตนตามบทบาทของตนในลำดับชั้นทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างกันจะนำมาซึ่งสังคมที่สงบสุข [1] ในสมัยชุนชิวและจ้านกว๋อ ลัทธินี้เป็นหนึ่งในหลายสำนักที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเสนอแนวทางในการจัดระเบียบสังคมท่ามกลางภาวะสงครามระหว่างแคว้น ต่อมามีอิทธิพลอย่างมากในสมัยราชวงศ์ฮั่นจากการนำเอาลัทธิมาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐแทนที่สำนักกฎหมายฟาเจี๋ย (Legalism -法家) ในสมัยราชวงศ์ฉิน ซึ่งส่งผลให้ลัทธิขงจื้อมีอิทธิพลขึ้นมาเป็นแนวคิดหลักของสังคมจีนและพัฒนาไปสู่การเป็นศาสนา


 ภาพแกะสลักหินอ่อนรูปพระพุทธเจ้า (ซ้าย) กับวัชรปาณีโพธิสัตว์ (ขวา) ผู้คุ้มครองพระพุทธเจ้าที่แกะสลักคล้ายคลึงกับเฮอร์คิวลิสในปกรนัมกรีก ทั้งสองรูปขุดค้นพบที่แคว้นคันธาระ กำหนดอายุได้ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 2
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Buddha-Vajrapani-Herakles.JPG)

- ศาสนาพุทธ (Buddhism) ซึ่งถือกำเนิดในอินเดียประมาณศตวรรษที่ 6-4 ก่อนคริสตกาล ศาสนาพุทธมองว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกเที่ยงแท้ถาวร เช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ที่ไม่ยั่งยืนถาวร ต้องเผชิญความทุกข์จากสังสารวัฏและความยึดมั่นถือมั่น รวมถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมวรรณะ [2] ศาสนาพุทธจึงมุ่งไปสู่จุดหมายสูงสุดคือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ และเสนอการหลุดพ้นจากสังคมวรรณะให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ศาสนาพุทธในช่วงแรกต้องเผชิญการแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อน แม้ศาสนาพุทธจะได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นล่าง แต่ศาสนาพราหมณ์ยังคงเป็นศาสนาหลักของชนชั้นนำทางสังคมในการอ้างสิทธิธรรมทางการเมือง จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะทรงประกาศเข้ารีตและให้การอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ ศาสนาจึงได้รับการยอมรับและเผยแผ่ไปทั่วอินเดีย รวมถึงตามเส้นทางการค้าสู่เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลกตะวันตกบางส่วน



 ภาพการตรึงกางเขนเยซูแห่งนาซาเรธ วาดในคริสตศตวรรษที่ 19 โดยคาร์ล บลิช (Carl Bloch) ศิลปินวาดรูปชาวเดนมาร์ก
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Christ_at_the_Cross_-_Cristo_en_la_Cruz.jpg)
 
- ศาสนาคริสต์ (Christianity) ซึ่งถือกำเนิดในจักรวรรดิโรมันประมาณคริสต์ศักราชที่ 1 โดยแยกตัวจากศาสนายูดายของชาวยิว ท่ามกลางความเชื่อศาสนายิวและลัทธิ-ศาสนากรีก-โรมันโบราณที่มองว่า เทพเจ้ามีความเกรี้ยวกราดและนำมาซึ่งภัยพิบัติต่าง ๆ หากมิได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง อีกทั้งศาสนาทั้งสองไม่ยอมรับความเชื่อที่แตกต่าง ขณะที่ศาสนาคริสต์เชื่อว่า พระเจ้ามีเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ และพระคริสต์ในฐานะบุตรของพระเจ้าคือผู้ไถ่บาป ให้มนุษย์ไปสู่อาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าอันเป็นจุดหมายของศาสนา การปฏิบัติตนตามคำสอนของพระคริสต์คือ หนทางที่จะไปสู่จุดหมายนั้น รวมทั้งยอมรับความเชื่อที่แตกต่างให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคม ในยุคที่จักรวรรดิโรมันรุ่งเรื่อง ศาสนาคริสต์ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อจักรวรรดิและถูกปราบปราม เนื่องจากขัดแย้งกับลัทธิบูชาจักรพรรดิที่ยึดโยงกับลัทธิ-ศาสนากรีก-โรมันโบราณ แต่ศาสนาคริสต์ได้ยืนหยัดความเชื่อของตนจนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ทรงประกาศ คำประกาศแห่งมิลาน” (Edict of Milan) ค.ศ. 313 และกลายเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลภายหลังจักรวรรดิโรมันล่มสลาย



 ภาพหน้าปกของคัมภีร์กุรอาน
(http://www.islamicdesktop.net/download/Islamic_Wallpaper_Quran_002-1366x768.jpg)

- ศาสนาอิสลาม (Islam) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในดินแดนอาระเบียประมาณศตวรรษที่ 7 โดยรับอิทธิพลของศาสนาคริสต์ที่แพร่หลายในดินแดนเลเวนท์ และศาสนายิวจากชุมชนชาวยิวที่ตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนอาระเบียที่มีมาก่อนหน้าเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งด้วยภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ประชากรจึงกระจัดกระจายกันเป็นชนเผ่าที่แต่ละชนเผ่ามีความเชื่อแตกต่างกัน และสงครามระหว่างเผ่าเพื่อปล้นชิงทรัพยากรและอำนาจถือเป็นเหตุการณ์ปกติในสังคม ศาสนาอิสลามจึงถือกำเนิดขึ้นโดยมุ่งหวังให้ชนเผ่าต่าง ๆ ในอาระเบียสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ โดยฟื้นฟูคำสอนของศาสดาก่อนหน้าที่มุ่งบูชาพระเจ้าองค์เดียว ละทิ้งการบูชารูปเคารพ และเผยแผ่วิวรณ์ของอัลเลาะห์ [3] แม้ในช่วงแรกจะมิได้รับการยอมรับจากบรรดาชนเผ่าชั้นนำในเมืองมักกะห์หรือเมกกะ (Mecca) เพราะเป็นความเชื่อใหม่ที่ขึ้นมาท้าทายความเชื่อเดิม แต่ภายหลังจากการเผยแผ่คำสอนในเมืองมะดินะห์หรือเมดินา (Medina) และการต่อสู้กับชนเผ่าชั้นนำของเมกกะเป็นเวลา 8 ปี ชนเผ่าชั้นนำของเมกกะก็ยินยอมสงบศึกและให้เมกกะเป็นศูนย์กลางของอิสลาม ซึ่งส่งผลให้ศาสนาอิสลามเผยแผ่ไปได้อย่างรวดเร็วผ่านเส้นทางการค้า

ศาสนาทั้งสี่นี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของการเขียนประวัติศาสตร์การทหารจากยุคคลาสสิคทั้งที่เป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ คู่มือการทหาร และเรื่องเล่าจากสงคราม ซึ่งความเปลี่ยนแปลงส่งผลต่องานเขียนทั้งสามในรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละอารยธรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 5-16


[1] Stephen Morillo. Frameworks of World History (Combined Volume). (Oxford University Press, 2014), p. 112
[2] Ibid, p. 110 
[3] Bernard Lewis. The Middle East: 2000 years of history from the rise of Christianity to the present day. (Phoenix Press, 1995), p. 53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น