วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (1) : โลกยุคโบราณ



ดังที่ได้กล่าวในบทก่อนหน้าว่า ประวัติศาสตร์การทหารเป็นหนึ่งในรูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่า ผู้คนในอดีตเขียนเรื่องราวเหล่านั้นไว้ทำไม? พวกเขาเขียนให้ใครอ่าน? และเรื่องราวเหล่านั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์การทหารให้เราศึกษาได้อย่างไร? 


ในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์การทหารถูกผลิตขึ้นเป็นสื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์แตกต่างกันในแต่ละสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม หรือตัวการทหารเอง ในอดีตเองก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งในช่วงแรกเริ่ม ประวัติศาสตร์การทหารถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์สองประการที่แตกต่างกันดังนี้


ประการแรกคือ เพื่อเป็นสิ่งบันเทิงในกลุ่มนักรบ ประวัติศาสตร์การทหารจึงปรากฏในรูปของวรรณกรรมเรื่องเล่าเชิดชูวีรบุรุษ ซึ่งเริ่มแรกจะเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันปากต่อปาก ต่อมาเมื่อระบบการเขียนได้รับการคิดค้นขึ้น จึงมีผู้นำเรื่องเล่านั้นมาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลักษณะการเขียนประวัติศาสตร์เช่นนี้มักปรากฏในสังคมของรัฐที่อ่อนแอหรือแบ่งแยกเป็นนครรัฐเล็ก ๆ ที่ปกครองโดยชนชั้นนำนักรบ

อีกประการหนึ่งคือ เพื่อเป็นประโยชน์ในการสั่งสอนผู้อื่นหรือการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ซึ่งจะปรากฏในรูปของบทวิเคราะห์การทำสงครามหรือพงศาวดารของผู้ปกครอง เพื่อใช้อบรบสั่งสอนผู้สืบทอดอำนาจและประกาศอำนาจอิทธิพลของตนต่อผู้ใต้ปกครอง ลักษณะการเขียนประวัติศาสตร์นี้มักปรากฏในสังคมของรัฐที่มีอำนาจแข็งแกร่ง

รูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์สองแบบนี้มาจากสองภูมิภาคคือ โลกของกรีก-โรมันและโลกของจีน ซึ่งทั้งสองรูปแบบต่างยังคงมีอิทธิพลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ในโลกยุคปัจจุบันแม้จะผ่านเวลาล่วงเลยมานับพันปี อย่างไรก็ตาม จากการที่การศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่เกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นในโลกตะวันตก ทำให้รูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์ของกรีก-โรมันได้รับการสืบทอดพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นรูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งสร้างแนวคิดอคติเรื่องยุโรปเป็นศูนย์กลาง

ประวัติศาสตร์การทหารในโลกยุคโบราณ

ในโลกยุคโบราณก่อนที่จะมีการจดบันทึกเรื่องราวในรูปแบบประวัติศาสตร์ เรื่องราวการทหารปรากฏในสองรูปแบบดังนี้

ภาพจารึกฝาผนังในวิหารแห่งหนึ่งในเมืองทีปส์ซึ่งเป็นเรื่องราวของฟาโรห์
ราเมเสสที่ 2 พิชิตป้อมปราการของฮิตไทต์
(http://en.wikipedia.org/wiki/File:Ramses_IIs_seger_%C3%B6ver_Chetafolket_och_stormningen_av_Dapur,_Nordisk_
familjebok.png)



ภาพเขียนประกอบวรรณกรรมมหาภารตะยุทธของอินเดีย
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/81/Kurukshetra.jpg)

รูปแบบแรกคือ พงศาวดารของกษัตริย์” (Deeds of the king) ซึ่งมีลักษณะเป็นการจดบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เกียรติยศและอิทธิพลของผู้ปกครองต่อผู้ใต้ปกครองกับอาณาจักรใกล้เคียง รูปแบบดังกล่าวนี้ปรากฏในรัฐเกือบทุกแห่งที่มีสังคมซับซ้อนและมีการประดิษฐ์ระบบการเขียน เช่น อียิปต์โบราณ, นครรัฐซูเมอร์ และอาณาจักรจีนโบราณ เป็นต้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ของเรื่องราวคือการเผยแพร่อิทธิพลของผู้ปกครอง ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า เนื้อความจะถูกบิดเบือนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นการบอกเล่าตามความเป็นจริงทั้งหมด 

 วรรณกรรมมหากาพย์อีเลียดที่เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-6
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Iliad_VIII_245-253_in_cod_F205,_Milan,_Biblioteca_Ambrosiana,
_late_5c_or_early_6c.jpg)

อีกรูปแบบหนึ่งคือ เรื่องเล่าจากสงคราม” (War tale) ซึ่งมีมาก่อนหน้า แต่เป็นเรื่องเล่าแบบปากต่อปากหรือมุขปาฐะ จึงทำให้เรื่องราวที่สืบทอดมาจนได้รับการจดบันทึกเมื่อมีการประดิษฐ์ระบบการเขียนมีจำนวนน้อย ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องเล่านี้ที่เป็นที่รู้จักก็คือ มหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นเรื่องเล่าจากสงครามในอดีตที่บอกเล่าสืบทอดต่อ ๆ กันเป็นเวลานาน และโฮเมอร์คือผู้ที่นำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาร้อยเรียงกันเป็นเรื่องเดียว แม้เรื่องราวจะเป็นการบอกเล่าสืบทอดกัน ไม่มีวัตถุประสงค์ที่เจาะจง ทำให้มีความน่าเชื่อได้ว่าเนื้อความเป็นสิ่งที่บอกเล่าตามความเป็นจริง แต่การเล่าสืบทอดกันปากต่อปากทำให้เรื่องราวถูกเปลี่ยนแปลงไปตามความเข้าใจของผู้คนในแต่ละกลุ่มและแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งอิทธิพลความคิดความเชื่อในลัทธิ-ศาสนาก็เข้ามามีบทบาทในการแปรเปลี่ยนเรื่องราวบางส่วนให้กลายเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติหรืออิทธิปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า จึงทำให้การแยกข้อเท็จจริงออกมายากลำบากมากกว่ารูปแบบแรกซึ่งสามารถใช้การเทียบเคียงเหตุการณ์ร่วมสมัยจากแหล่งข้อมูลอื่นได้

อย่างไรก็ตาม การเขียนเรื่องราวการทหารรูปแบบหลังนี้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นกลายเป็นพื้นฐานการเขียนประวัติศาสตร์การทหารที่มีระบบอ้างอิงแหล่งข้อมูลในนครรัฐกรีกช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น