ประวัติศาสตร์การทหารของโรมัน
ณ คาบสมุทรอิตาลี [1] นครรัฐโรมได้ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของชนเผ่าละตินกลุ่มต่าง
ๆ ก่อตั้งเป็นชุมชนเลี้ยงสัตว์ในช่วงศตวรรษที่ 8 คริสตกาล และจากการอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรอีทรัสกันที่มีลักษณะสังคมเป็นสังคมนักรบและมีระบบเศรษฐกิจสัมพันธ์กับการทำสงครามแย่งชิงทรัพยากรจากดินแดนใกล้เคียง
[2] ส่งผลให้สังคมโรมันให้คุณค่ากับการทหารและยึดโยงคุณค่านี้กับสิทธิ์การเป็นพลเมือง,
การเมือง และวัฒนธรรม รวมทั้งการเขียนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับอิทธิพลระบบการเขียนจากอารยธรรมอีทรัสกัน
แต่ชาวโรมันก็มิได้มีการเขียนประวัติศาสตร์ใด ๆ ในรูปแบบของตน จนกระทั่งอาณาจักรโรมันยุคสาธารณรัฐพิชิตดินแดนในคาบสมุทรกรีกและอาณาจักรมาซิโดเนียในช่วงศตวรรษที่
2 ก่อนคริสตกาล ซึ่งหนึ่งในผู้ที่นำการเขียนประวัติศาสตร์จากอารยธรรมกรีกสมัยเฮเลนนิสติกมาสู่อาณาจักรโรมันคือ
โพลิบีอุส (Polybius)
โพลิบีอุสเป็นหนึ่งในตัวประกันชนชั้นสูงของสันนิบาตเอเจี้ยนที่ถูกส่งยังโรม
เพื่อรับประกันว่าสันนิบาตจะไม่เปิดสงครามกับโรมัน
เนื่องจากโพลิบีอัสเป็นบุตรของลีคอร์ตัส สมาชิกการเมืองคนสำคัญของสันนิบาต เขาจึงได้มาอยู่ภายใต้การคุ้มครองและอุปถัมภ์ของตระกูลสกิปิโอซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีอิทธิพลในโรม
รวมทั้งให้เขาเป็นอาจารย์สอนบุตรของตระกูล ด้วยความสัมพันธ์ที่มีกับตระกูลผู้อุปถัมภ์
ทำให้แม้หลังจากได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดในปีที่ 150
ก่อนคริสตกาล โพลิบีอุสยังไม่เดินทางกลับในทันที หากแต่เดินทางติดตามแม่ทัพสกิปิโอ
อัฟริกานุสไปสังเกตการณ์การรบระหว่างโรมกับคาร์เธจในสงครามพิวนิกครั้งที่สาม
ก่อนรับหน้าที่ทำงานทางเมืองในการจัดตั้งระบบการปกครองมณฑลกรีก และภายหลังจากเสร็จสิ้นงานการเมือง
เขาไปร่วมสังเกตการณ์สงครามกับแม่ทัพสกิปิโอในหลายสมรภูมิ และเดินทางไปยังสถานที่ต่าง
ๆ ทางประวัติศาสตร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์ของเขา
โดยพยายามเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นหลักฐานชั้นต้นและสัมภาษณ์ทหารผ่านศึก
เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงมากที่สุด
จากการมีประสบการณ์ทางการเมืองที่ช่วยในการแยกแยะข้อเท็จจริงจากเรื่องเล่าและการออกเดินทางไปสังเกตภูมิศาสตร์ในท้องถิ่นนั้น
ๆ ด้วยตนเอง ทำให้งานเขียนเรื่อง “The Histories” ของโพลิบีอุสเป็นหนึ่งในงานเขียนชั้นเลิศในการศึกษาประวัติศาสตร์โรมันยุคสาธารณรัฐที่แม้แต่นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
เช่น ลิวี่ (Livy) และพลูตาร์ช (Plutarch) นำมาเป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างสรรค์งานเขียนของตน นอกจากการบอกเล่าเหตุการณ์การเมืองของโรมันและอาณาจักรทรงอำนาจต่าง
ๆ รวมถึงอาณาจักรกรีกและอียิปต์ ณ ช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่แล้ว
เขายังวิเคราะห์การเมืองในแต่ละอาณาจักรด้วย โดยเฉพาะโรมัน ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาทั้งการเมือง
สังคม และการทหารด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุด นอกจากนี้ โพลิบีอุสได้อ้างอิงแหล่งข้อมูลต่าง
ๆ ที่ใช้ประกอบงานเขียนของเขาทั้งที่เป็นเอกสารและนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยคนอื่น
ๆ งานเขียน “The Histories” ของเขาจึงถือได้ว่า
เป็นหนึ่งในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่เป็นการศึกษาอย่างเป็นระบบมากที่สุดในโลกยุคโบราณ
ภายหลังจากงานเขียนของโพลิบีอุสและนักประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยเดียวกันคนอื่น
ๆ รูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์ของอารยธรรมกรีกสมัยเฮเลนนิสติกก็เริ่มผสมผสานเข้ากับแนวคิดคุณค่าทางทหาร
จึงทำให้อิทธิพลของคุณค่าทหารเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเขียนประวัติศาสตร์ และเมื่ออาณาจักรผ่านแต่ละช่วงเวลาจากการเปลี่ยนรูปแบบกองทัพจากกองทหารกึ่งพลเรือนไปสู่กองทหารประจำการ, จากภาวะสงครามกลางเมืองชิงอำนาจที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย
ๆ และจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองจากสาธารณรัฐไปสู่จักรวรรดิภายใต้การปกครองของจักรพรรดิออกุสตุส
งานเขียนทางประวัติศาสตร์การทหารก็ได้รับการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า "การศึกษาการทหารอาชีพ" (Professional Military Education)
เช่นเดียวกับอิทธิพลของทหารที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นและสนับสนุนให้ความเป็นผู้นำทางทหารกลายเป็นคุณสมบัติสูงสุดสำหรับการบริหารจัดการด้านการเมืองของอาณาจักร
เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคงจากสงครามกลางเมือง
ประวัติศาสตร์การทหารของโรมันจึงได้รับความสนใจมากจากผู้คนร่วมสมัยนั้นทั้งจากชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาที่ทำหน้าที่ทางทหารและพลเรือน
และต่อมาความนิยมนั้นได้ขยายไปยังนายทหารระดับล่างในสายบังคับบัญชาที่บัญชาการกองทหารและมีความทะเยอทะยานทางการเมือง
หนึ่งในงานเขียนสำคัญที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์การทหารสมัยโรมันคือ
“ความคิดเห็นต่อสงครามกอล” (Commentarii de Bello Gallico) กับ
“ความคิดเห็นต่อสงครามกลางเมือง” (Commentarii de Bello Civili) ที่เขียนโดยแม่ทัพและรัฐบุรุษของสาธารณรัฐโรมัน จูเลียส ซีซาร์ (Julius
Caesar) งานเขียนทั้งสองนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่เขาเขียนขึ้น เพื่อยกย่องความสามารถของตัวเขาเองว่า
มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะขึ้นเป็นผู้ปกครองโรมเหนือคู่แข่งทางการเมืองคนอื่น ๆ ซึ่งซีซาร์ได้แสดงถึงการเป็นนักเขียนที่มีความสามารถเท่า
ๆ กับการเป็นผู้บัญชาการทหาร
และลักษณะงานเขียนของเขากลายเป็นแบบอย่างของงานเขียนประวัติศาสตร์การทหารในสมัยศตวรรษที่
19
ด้วยวัตถุประสงค์ของงานเขียนที่หวังผลทางการเมือง
เนื้อหาในงานเขียนของซีซาร์ย่อมมีลักษณะเชิดชูความสามารถของเขาและบทบาทในสงครามที่เขาเป็นผู้บัญชาการ
โดยอ้างความเป็นเจ้าของความสำเร็จในการวิเคราะห์เหตุการณ์ในสมรภูมิอย่างเยือกเย็น กระนั้นเหตุการณ์ที่เขาบันทึกเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ลักษณะการเขียนของซีซาร์จะใช้วิธีการบรรยายการดำเนินสงครามและการเล่าเรื่องสมรภูมิตามรูปแบบของกรีก
แต่งานเขียนของเขามีความแตกต่างจากงานของธูซิดิเดสและเซโนฟอนที่มองบุคลากรในกองทัพและจิตวิทยาของมวลชนเป็นสิ่งขับเคลื่อนสงคราม
ซีซาร์มองว่า
สงครามเป็นศาสตร์ที่ใช้ความรู้ความสามารถของผู้บัญชาการในการขับเคลื่อนและกำหนดทิศทาง
ขณะที่เหล่าทหารในสนามรบเป็นหุ่นที่ทำหน้าที่ตามแผนอันเฉลียวฉลาดของผู้บัญชาการ
(แม้ซีซาร์จะให้การยกย่องทหารที่ทำหน้าที่ได้สมวีรบุรุษก็ตาม)
ซึ่งมุมมองดังกล่าวนี้ทำให้เกิดมุมมองในการเขียนประวัติศาตร์การทหารที่ให้ความสำคัญต่อศาสตร์การบัญชากองทัพ
หรือหากกล่าวอย่างสั้น ๆ คือ ประวัติศาสตร์ของผู้นำทางทหารผู้ยิ่งใหญ่
นอกจากนักประวัติศาสตร์อย่างโพลิบีอุสและแม่ทัพในสงครามอย่างจูเลียส
ซีซาร์แล้ว
ผู้เขียนประวัติศาสตร์และงานเขียนประวัติศาสตร์การทหารสมัยโรมันอื่นอีกมากมาย อาทิ
-
พลูตาร์ซ (Plutarch)
นักประวัติศาสตร์และนักจดชีวประวัติชาวกรีกที่อพยพมายังโรม
ผู้เขียนเรื่องราวชีวประวัติของชาวกรีกและโรมันที่มีชื่อเสียงในงานเขียน
“ชีวประวัติคู่ขนาน” (Parallel Lives) ซึ่งพลูตาร์ชนำเอาชีวประวัติของผู้ที่มีลักษณะเหมือนกันทางศีลธรรมหรือทางความล้มเหลวที่เป็นชาวกรีกจับคู่กับชาวโรมัน
-
ซุยโทนีอุส (Suetonius)
นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันผู้เขียน “ชีวประวัติของซีซาร์ 12 พระองค์” (De
vita caesarum) และ “ชีวประวัติผู้มีชื่อเสียง” (De Viris
Illustribus) ซึ่งแม้เอกสารมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องซุบซิบนินทาและคำสดุดีจักรพรรรดิของนักประวัติศาสตร์สมัยจักรวรรดิช่วงต้น
แต่ด้วยการเข้าถึงเอกสารจดหมายเหตุของราชสำนัก รายงานของผู้เห็นเหตุการณ์
และหลักฐานอื่น ๆ [3]
ทำให้งานเขียนของซุนโทนีอัสยังมีความน่าเชื่อถือและจำเป็นต้องเทียบเคียงกับเอกสารร่วมสมัย
-
แซลลัสต์ (Sallust) หรือซัลลุสติอุส
คริสปุส (Sallustius Grispus)
นักประวัติศาสตร์และนักการเมืองชาวโรมันผู้เป็นมิตรสหายของจูเลียส ซีซาร์
เขาได้สร้างงานเขียนเรื่อง “การสมคบคิดของแคตติไลน์” (De coniuratione
Catilinae) และ “สงครามยูกูรธีน” (Bellum Iugurthinum) ซึ่งแซลลัสต์ได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบสาธารณรัฐของโรมจากงานเขียนทั้งสอง
รวมทั้งวิเคราะห์ความสามารถบัญชาการของแม่ทัพไกอัส มาริอัส (Gaius Marius) ได้อย่างละเอียด
-
ลิวี่ (Livy) และทาซิตุส (Tacitus)
สองนักประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในปัจจุบันจากงานเขียนประวัติศาสตร์ทั่วไปของโรมัน
ซึ่งลักษณะการเขียนประวัติศาสตร์ของทั้งคู่นี้ที่เน้นคุณค่าและความยิ่งใหญ่ของชาวโรมันนี้อาจกล่าวได้ว่า
เป็นบรรพบุรุษอันห่างไกลของประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่จะสรรสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 แม้ว่าทั้งคู่จะมิใช่บุคลากรทางทหาร
แต่จากการทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทำให้การทหารเป็นเรื่องปกติที่พวกเขารับรู้
จึงมีการระบุถึงในงานเขียนในเชิงข้อมูลทั่วไป กระนั้น งานเขียนของทาซิตุสมีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ท้าทายที่อาณาจักรโรมันเผชิญและสิ่งที่จักรพรรดิแต่ละพระองค์ตอบโต้ต่อการท้าทายนั้น
-
โยเซฟ เบน มาติทยาฮู (Joseph ben
Matityahu) หรือที่รู้จักในชื่อละตินว่า โยเซฟุส (Josephus) นักประวัติศาสตร์ชาวยิวและผู้นำชาวยิวและมณฑลยูเดียลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิโรมันในสงครามโรมัน-ยิวครั้งแรกก่อนจะยอมแพ้และได้รับการอุปถัมภ์โดยตระกูลฟาวิอุส
เขาได้สร้างงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกผ่านมุมมองชาวยิวและการลุกฮือต่อต้านอำนาจของโรมัน
ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสาเหตุแรงจูงใจทั้งฝั่งชาวโรมันและฝั่งชาวยิวที่นำไปสู่ความขัดแย้ง
-
อัมมิอานุส มาร์เซลลินุส (Ammianus
Marcellinus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกและทหารรักษาพระองค์ของจักรพรรดิคอนสแตนติอุสที่
2 ซึ่งสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์โรมันช่วงปลายตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิเนอร์วาจนถึงสมรภูมิอาเดียนโนเปิล
โดยให้ข้อมูลการทหารอย่างละเอียดและเที่ยงตรงมากที่สุดจากวัตถุประสงค์ที่ตอบสนองผู้สนใจระดับสาธารณะแทนที่จะเป็นชนชั้นนำของสังคมหรือกลุ่มทหารอันเนื่องมาจากสังคมโรมันช่วงปลายที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์
และชนชั้นในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังจะเห็นได้ว่า นักประวัติศาสตร์สมัยโรมันเกือบทั้งหมดมุ่งเขียนประวัติศาสตร์โดยมีกรอบเนื้อหามุ่งทางการเมือง
ซึ่งกรอบความคิดทางประวัติศาสตร์นี้ถูกนำมาใช้ในเชิงวาทศิลป์ควบคู่กับแนวคิดการให้ความสำคัญกับแม่ทัพของซีซาร์
เพื่อสร้างบทวาทกรรมเปิดสงครามของแม่ทัพ ซึ่งเป็นแนวการเขียนประวัติศาสตร์สงครามของโรมันโดยทั่วไป
[4]
นอกจากงานเขียนที่เป็นประวัติศาสตร์การทหารแล้ว
ยังมีงานเขียนที่เป็นคู่มือการสงครามสำหรับการเป็นแม่ทัพด้วย ซึ่งงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ
“เรื่องเกี่ยวกับการทหาร” (Epitoma rei militaris) ของเวเกติอุส
(Vegetius) นักเขียนที่มีชีวิตในสมัยโรมันช่วงปลายประมาณศตวรรษที่
4 ซึ่งเป็นยุคที่กองทัพโรมันเสื่อมอำนาจลง เนื้อหาในงานเขียนของเขาได้อธิบายหลักยุทธศาสตร์ต่าง
ๆ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปยังระบบการลำเลียงพลและกลอุบายทางยุทธวิธี รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการเกณฑ์และฝึกกำลังพลอย่างใกล้ชิด
ลักษณะงานเขียนนี้จะสืบทอดไปยังจักรวรรดิไบแซนไทน์และมีอิทธิพลต่องานเขียนทางทหารอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยเดียวกับอาณาจักรโรมัน
งานเขียนเชิงคู่มือการสงครามถือเป็นงานเขียนหลักของประวัติศาสตร์การทหารในอาณาจักรจีน
และกลายเป็นงานเขียนที่ได้รับการสืบทอดมาจวบจนปัจจุบันในฐานะหนังสือกลยุทธทางธุรกิจ
[1] คาบสมุทรอิตาลีหรือคาบสมุทรอัพเพนไนน์
(Apennine Peninsula) มีอาณาเขตครอบคลุมเฉพาะดินแดนที่เป็นอิตาลีบนภาคพื้นทวีป
มิได้รวมเกาะซิซิลี
[4] Stephen Morillo and Michael F. Pavkovic. What is
Military History? (Polity Press, 2014), p. 18
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น