ประวัติศาสตร์การทหารของจีนยุคจักรวรรดิ
ทางด้านดินแดนตะวันออกไกล จักรวรรดิจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นประสบปัญหาหลายอย่างทั้งความไม่สำเร็จในการปฏิรูปที่ดินจากอำนาจชนชั้นนำ, การสูญเสียงบประมาณของรัฐจำนวนมากไปกับการก่อสร้างป้อมปราการเพื่อควบคุมเส้นทางการค้าสายไหม,
การรุกรานจากชนเร่ร่อนนอกอาณาจักร และความขัดแย้งการเมืองในราชสำนักระหว่างกลุ่มตระกูลมเหสีของจักรพรรดิที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองผ่านการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิที่ยังทรงพระเยาว์
กับกลุ่มขันทีที่เข้ามามีอิทธิพลผ่านการถวายคำแนะนำการดำเนินราชการ ปัจจัยดังกล่าวทำให้อำนาจรัฐจากส่วนกลางอ่อนแอและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดกบฏชาวนาในชื่อ
“โจรโพกผ้าเหลือง” ในปีค.ศ. 184 ซึ่งการปราบปรามกบฏนี้ทำให้ขุนศึกมีอิทธิพลมากขึ้น
และเมื่อโจผี (Cao Pi) ประกาศตั้งราชวงศ์เว่ยในปีค.ศ. 220 อันนำมาซึ่งการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นสามแคว้นใหญ่
[1] จักรวรรดิฮั่นจึงล่มสลายลงอย่างเป็นทางการ และเข้าสู่ยุคสมัยที่อาณาจักรจีนแตกแยกออกเป็นแว่นแคว้นย่อย
ๆ เช่นเดียวกับในยุคชุนชิวเมื่อศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์กาล
แผนที่แสดงอาณาจักรที่แตกแยกออกมาเมื่อโจผีประกาศตั้งราชวงศ์เว่ย (หรือวุย) เมื่อปีค.ศ. 220
(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/01/K6224745/K6224745-6.gif)
อย่างไรก็ตาม การล่มสลายทางการเมืองของจักรวรรดิฮั่นส่งผลกระทบน้อยมากต่อโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม
รวมทั้งการเขียนประวัติศาสตร์ แตกต่างจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกที่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันได้เปลี่ยนแปลงการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคมไปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากอาณาจักรที่แตกแยกออกไปยอมรับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของจีนเป็นเครื่องมือในการจัดการปกครองอาณาจักรของตน
รวมทั้งผู้รุกรานจากภายนอกซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อน มีโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนน้อยกว่า
ยินดีที่จะรับเอาโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมจีนไปใช้ และกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างนั้นด้วย
เนื่องจากชนเร่ร่อนเหล่านั้นมองว่า
วัฒนธรรมจีนเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสูงส่งและยิ่งใหญ่กว่าวัฒนธรรมชนเร่ร่อน ขณะที่สภาพการณ์ในยุโรปตะวันตกซึ่งผู้รุกรานชนเผ่าเยอรมันเป็นชุมชนตั้งถิ่นฐานแน่นอน
และมีโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งทัดเทียมกับโครงสร้างของจักรวรรดิโรมัน
ดังนั้น เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของโรมันจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงผสมผสานให้เข้ากับวัฒนธรรมของชนเผ่าเยอรมัน
ภายหลังจากการแตกแยก อาณาจักรจีนก็กลับมารวมเป็นหนึ่งอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ซุ่ยและถัง
โดยเฉพาะในสมัยถังซึ่งราชสำนักให้ความสำคัญกับการทหารและมีชนชั้นสูงจำนวนที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มชนเร่ร่อนที่เป็นนักรบบนหลังม้า
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของลัทธิขงจื้อที่ลดคุณค่าความสำคัญของทหาร และศาสนาพุทธที่เริ่มได้รับการยอมรับสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่
6 และได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักในสมัยราชวงศ์ซุ่ย ทำให้ราชสำนักให้ความสำคัญกับการรักษาความสงบสุขมากกว่าการสงคราม
เรื่องราวการทหารจึงไม่ได้รับความสำคัญเท่าใดนัก และการเขียนประวัติศาสตร์ยังคงดำเนินตามแบบแผนเดิมที่ซือหม่า
เฉียนได้วางไว้เป็นหลัก
แต่กระนั้น งานเขียนเชิงคู่มือทางทหารยังคงมีปรากฏบ้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังจนถึงราชวงศ์หมิงแม้จะมีจำนวนน้อยและบางตำรามักตีพิมพ์ซ้ำในรัชสมัยอื่น
เช่น “ข้อคำถามและคำตอบระหว่างจักรพรรดิไท้จงกับเจ้าเมืองหลี่แห่งแคว้นเว่ย”
(唐太宗李衛公問對) ซึ่งเป็นบันทึกบทสนทนาถกเถียงเรื่องทางทหารระหว่างจักรพรรดิไท้จงกับแม่ทัพหลี่
จิง โดยนำเอาทฤษฎีการทหารในยุคก่อนหน้ามาพิจารณาเทียบกับประสบการณ์ทางทหารของผู้เขียน, “บันทึกรวบรวมยุทธวิธีสงครามที่สำคัญ”
(武經總要) ในค.ศ. 1044 ซึ่งเป็นบันทึกรวบรวมความรู้เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ในสงครามที่เก็บรวบรวมตามคำสั่งของจักรพรรดิเหลินจงแห่งราชวงศ์ซ่ง
และ “ตำรามังกรเพลิง” (火龍經) ของเจียว
ยู่และหลิว ชีในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นคู่มือการใช้อาวุธเพลิงและดินระเบิด เป็นต้น
[2] นอกจากนี้ ในสมัยราชวงศ์ถัง บทกวีเกี่ยวกับสงครามก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
และมีผู้ประพันธ์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น หวาง จางหลิง (王昌齡)
กวีคนสำคัญสมัยต้นราชวงศ์ถังผู้ประพันธ์บทกวีเกี่ยวกับสงครามแถบชายแดนฝั่งตะวันตกของอาณาจักรจีน,
ตู่ฝู่ (杜甫)
กวีสมัยกลางราชวงศ์ถังผู้ประพันธ์บทกวีคติธรรม “บทเพลงขบวนรถม้า” (Song of the Wagons) เกี่ยวกับกองทหารที่ถูกส่งไปประจำด่านปราการคุ้มกันเส้นทางสายไหมซึ่งมีสภาพชีวิตที่ลำบากและไร้เกียรติ
เพื่อสนองกิเลสขององค์จักรพรรดิ [3] และเฉิน ชาง (岑參) กวีข้าราชการผู้ที่เดินทางไปประสบความยากลำบาก ณ
ชายแดนตะวันตกเป็นเวลาสิบปี ซึ่งเขาประพันธ์กวีสะท้อนความยากลำบากในการดำเนินชีวิตที่ชายแดนนั้น
เป็นต้น
ซึ่งบทกวีเกี่ยวกับสงครามของจีนจะมุ่งเน้นเรื่องความยากลำบากของอาชีพทหารโดยมีตัวละครหลักเป็นสามัญชนหรือชนเผ่าเร่ร่อนนอกอาณาจักร ต่างจากวรรณกรรมของวัฒนธรรมอื่นที่ร่วมสมัยกัน เช่น ยุโรปยุคกลางและจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่บทกวีและวรรณกรรรมมีตัวละครหลักเป็นชนชั้นนำทางสังคม
เรื่องสามก๊กเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ผลิตซ้ำเป็นสื่อบันเทิงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์หรือเกมก็ตาม
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/f/f9/Three_Kingdoms_DVD.jpg)
ด้วยลักษณะโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมจีนที่เข้มแข็งและเป็น
การที่ชนเร่ร่อนยินดีรับเอาโครงสร้างวัฒนธรรมของจีนมาใช้
จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นจจนถึงราชวงศ์ชิงและการรุกรานจากมองโกลส่งผลกระทบต่อจารีตการเขียนประวัติศาสตร์ของจีนน้อยมาก
งานเขียนจำพวกคู่มือสงครามมีปรากฏเพียงจำนวนน้อยและมักไม่มีชื่อเสียง
ขณะที่ในส่วนของวรรณกรรมเกี่ยวกับสงคราม แม้จะเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากกว่าอย่างเช่นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่อง
“สามก๊ก” (三國演義) แต่กระนั้น
วรรณกรรมแนวสงครามก็มีเพียงเล็กน้อย
และกระแสของบทกวีในสมัยหลังมุ่งไปยังเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย
[2] http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Chinese_military_texts
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น