ประวัติศาสตร์การทหารเป็นแขนงที่มีผู้สนใจจำนวนมากและหลากหลายตั้งแต่ในระดับเด็กนักเรียน
นักศึกษามหาลัย จนถึงนักวิชาการทางประวัติศาสตร์และนายทหาร
ทำให้การเผยแพร่ประวัติศาสตร์การทหารมีหลายระดับ เพื่อให้เหมาะกับความรู้ความเข้าใจของกลุ่มผู้สนใจ
ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มดังนี้
กลุ่มแรกคือ
กลุ่มผู้สนใจทั่วไปที่ศึกษาประวัติศาสตร์การทหาร (และประวัติศาสตร์อื่น ๆ)
ในลักษณะ "การอ่านเล่นนอกเวลา"
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
อันเนื่องมาจากการแพร่หลายมากขึ้นของสื่อสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์
และกลายเป็นตลาดสำคัญของผู้ผลิตสื่อในทุกระดับ
ตั้งแต่นักเขียนทั่วไปที่ใช้ประวัติศาสตร์การทหารเพื่อให้ผลงานของตนขายได้ง่าย
จนถึงนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาทางทหารและนายทหารเกษียณอายุ
เนื่องด้วยกลุ่มผู้สนใจนี้ศึกษาประวัติศาสตร์เพียงเพื่ออ่านเล่น
ทำให้ขอบเขตเนื้อหาประวัติศาสตร์การทหารที่กลุ่มนี้สนใจจะเป็นเนื้อหาเชิงให้ข้อมูลเป็นสำคัญ
เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ พัฒนาการ และประสิทธิภาพการใช้งาน, เครื่องแบบ
ตราประดับของทหาร, รายละเอียดสถานการณ์และยุทธวิธีการรบในแต่ละสมรภูมิ,
ประวัติผู้บัญชาการทหารและผลงานการรบ เป็นต้น
รวมทั้งเนื้อหาในลักษณะการจัดอันดับเปรียบเทียบ เช่น "10 อันดับอาวุธที่น่าเกรงขามในโลกโบราณ", "5
สมรภูมิดุเดือดในประวัติศาสตร์" หรือ "มาดูกองทหารแต่ละชาติกัน" เป็นต้น
อาจจะมีการเสริมรายละเอียดเพิ่มเติม แต่มักเป็นข้อมูลทั่วไป เช่น
ที่มาของชื่ออาวุธและชื่อสมรภูมิ, เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่สมรภูมิ
หรือการอ้างคำพูดบางส่วนจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เป็นต้น
สำหรับผู้เริ่มต้นสนใจประวัติศาสตร์และผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์การทหาร
เนื้อหาประวัติศาสตร์การทหารในระดับนี้จะง่ายต่อการศึกษาและดึงความสนใจ
ซึ่งผู้ศึกษาจะเห็นภาพแนวทางประวัติศาสตร์การทหารในประเด็นที่สนใจและทราบข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อง
เพื่อนำไปสู่การสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมและกำหนดประเด็นการศึกษาได้ชัดเจนมากขึ้น
ในต่างประเทศ
มีแหล่งข้อมูลสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์การทหารในระดับนี้อยู่จำนวนมากและเข้าถึงได้ง่าย
ทั้งผ่านหนังสือที่วางขายทั่วไปและสมาคมหรือกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์การทหาร
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย แม้จะมีผู้สนใจจำนวนมาก แต่แหล่งข้อมูลภาษาไทยค่อนข้างจำกัด
อีกทั้งมีความน่าสงสัยในความน่าเชื่อถือของตัวแหล่งข้อมูล
โดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ตซึ่งส่วนใหญ่มิได้มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
หลักฐานไม่ชัดเจน
รวมถึงมีผู้เผยแพร่จำนวนหนึ่งมีความสับสนในกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์
ใช้สำนวนภาษาที่มุ่งเน้นการสร้างอารมณ์ร่วม
ฟันธงว่าเรื่องราวที่เผยแพร่เป็นความจริง
มองประวัติศาสตร์ในมุมมองของกรอบสังคมปัจจุบัน และจับโยงสิ่งต่าง ๆ
ผูกเป็นเรื่องราว โดยไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น
และไม่สอดคล้องกับหลักฐานหรือมีเหตุผลอันน่าเชื่อถือเพียงพอ
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ศึกษาต้องใช้วิจารณญาณคัดกรองข้อมูลที่มีน่าเชื่อถือและมีประโยชน์ต่อการศึกษามากที่สุด
เพื่อนำไปสู่การศึกษาในระดับกลุ่มผู้สนใจที่สอง คือ กลุ่มระดับวิชาการ
กลุ่มระดับวิชาการเป็นกลุ่มที่พัฒนาความสนใจประวัติศาสตร์การทหารจากการศึกษาข้อมูลทั่วไปไปสู่การศึกษาในระดับที่ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นจนถึงการวิจัยทางวิชาการทางด้านนี้
ซึ่งกลุ่มผู้สนใจจะจำกัดขอบเขตแคบลงและมักเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือทำงานวิชาการ
เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์การทหาร หรือต้องการพัฒนาความรู้เพื่อประกอบงานวิจัยในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
และนักเขียนหรือนักวิจัยที่เข้าใจกระบวนการศึกษาทางประวัติศาสตร์และมุ่งเน้นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทหาร
เพื่อต่อยอดความรู้หรือเผยแพร่ผลงานของตนทางการค้า เป็นต้น อีกทั้งกลุ่มนี้จะมีทั้งผู้ผลิตและบริโภคงานประวัติศาสตร์การทหาร
ต่างจากกลุ่มแรกที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภคงานมากกว่า
จากการที่ความสนใจของกลุ่มระดับวิชาการลงลึกมากกว่ากลุ่มแรก
ทำให้ขอบเขตเนื้อหาของประวัติศาสตร์การทหารจะมุ่งเจาะจงมากขึ้น
เน้นการตีความวิเคราะห์หลักฐานที่ปรากฏ โดยเฉพาะหลักฐานชั้นต้น
และอาจจะนำสาขาวิชาอื่นเข้ามามีส่วนพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของข้อเท็จจริง
รวมถึงการเปิดประเด็นและมุมมองใหม่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การทหารในเรื่องนั้น
ๆ ขณะเดียวกันรายละเอียดของข้อมูลยังคงมีอยู่ แต่ลดทอนลงเหลือเพียงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา
และชื่อของสื่อในกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่เจาะจงมากกว่ากลุ่มแรก เช่น “สงคราม,
การเมือง และสังคมในจีนสมัยใหม่ช่วงต้น ค.ศ. 900-1795”, “การสงครามของกรีก:
ปกรนัมและความเป็นจริง”, “ประชากรในยุคกลางของญี่ปุ่น:
ความอดอยาก, ความอุดมสมบูรณ์ และการสงครามในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง” เป็นต้น
สื่อของประวัติศาสตร์การทหารกลุ่มนี้ค่อนข้างมีจำกัดมากในประเทศไทย
เนื่องจากสื่อเกือบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือสารสนเทศทางอินเตอร์เน็ต
อีกทั้งสื่อเป็นหนังสือในกลุ่มนี้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษมีจำหน่ายภายในประเทศไทยน้อยมาก
ขณะที่สื่อที่ผลิตโดยกลุ่มสุดท้ายนี้มีจำนวนมากกว่าและกลายเป็นกลุ่มหลักที่ผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การทหาร
กลุ่มนี้คือ กลุ่มอาชีพทหารและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มอาชีพทหารและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเป็นกลุ่มที่มีความสนใจต่อประวัติศาสตร์การทหาร
เพื่อนำไปพัฒนาความรู้ความสามารถในหน้าที่การงาน รวมถึงนำไปใช้ในประกอบบทเรียนที่ใช้สอนในสถาบันการเรียนรู้ทางทหาร
หรือใช้ประกอบงานเขียนส่วนบุคคลทางการค้า
ความสนใจต่อประวัติศาสตร์การทหารของกลุ่มผู้สนใจนี้จะมุ่งเน้นไปยังการประยุกต์ความรู้ทางทหารในประวัติศาสตร์มาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันมากกว่าจะเป็นการศึกษาในเชิงวิชาการ
และผู้ผลิตสื่อมักเป็นนายทหารเกษียณอายุที่ต้องการบอกเล่าประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้คนรุ่นหลัง
ซึ่งการประกอบอาชีพทางทหารได้สร้างภาพลักษณ์ให้ผู้รับเชื่อถือสื่อที่กลุ่มนี้ผลิตขึ้นทั้งในกลุ่มผู้สนใจทั่วไปและแวดวงวิชาการ
รวมทั้งสร้างค่านิยมของการสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์การทหารว่า
“ผู้เขียนหรือผู้ศึกษาต้องเป็นทหารหรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทหาร”
ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือดังกล่าวทำให้สื่อที่กลุ่มอาชีพทหารผลิตขึ้นทางการค้ามีจำนวนมากและได้รับความนิยม
เนื่องจากเนื้อหาในมักสื่อเป็นการเล่าประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ และเนื้อหาบางส่วนอาจจะบอกเล่าความรู้สึกหรือมุมมองต่ออาชีพทหารด้วย
จึงดึงดูดผู้สนใจที่อยากรู้อยากเห็นชีวิตในค่ายทหารและสนามรบได้ง่าย อย่างไรก็ตาม
สื่อของกลุ่มนี้อีกด้านหนึ่งก็เป็นงานเขียนทางราชการที่วิเคราะห์ปฏิบัติการทางทหารร่วมสมัย
เพื่อนำมาใช้กำหนดแนวนโยบายทางทหารในอนาคต ซึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์การก่อการร้าย
11 กันยายน, สงครามอ่าวเปอร์เซีย และปฏิบัติการปลดปล่อยอิรัก
สงครามได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ความขัดแย้งมิใช่เกิดจากรัฐต่อรัฐ
หากแต่เป็นรัฐต่อกลุ่มคน ชัยชนะในสมรภูมิที่รวดเร็วจึงมิอาจยุติสงครามได้
ทำให้แต่ละชาติต้องหวนกลับไปศึกษาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินปฏิบัติการทางทหาร
และความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้เข้ามาเติมเต็มหรือเสนอมุมมองใหม่ในการจัดการความขัดแย้งดังกล่าว
เพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพและยุติสงคราม
จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ผู้สนใจจะมองประวัติศาสตร์เป็นสิ่งให้ความบันเทิงยามว่าง,
เป็นความรู้ทางวิชาการที่จะนำไปศึกษาวิจัย และเป็นบทเรียนเพื่อศึกษาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ซึ่งประวัติศาสตร์การทหารนี้ช่วยให้เราเข้าใจอดีตและความเป็นไปที่นำพาเรามายังยุคปัจจุบันผ่านการศึกษาสงครามในฐานะหนึ่งในกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต
อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางด้านนี้ยังคงต้องพัฒนาต่อไปในอนาคตควบคู่กับการสร้างสรรค์งานให้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
การเขียนประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่นักประวัติศาสตร์ที่ดีต้องศึกษา
เพื่อให้นักประวัติศาสตร์สามารถเขียนประวัติศาสตร์ได้อย่างครอบคลุมและไร้อคติมากที่สุด
รวมทั้งใช้ศึกษาถึงความคิดของผู้เขียนประวัติศาสตร์ในอดีตว่า
เหตุใดเขาจึงจดบันทึกเรื่องราวเหล่านี้?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น