ประวัติศาสตร์การทหารเป็นหนึ่งในสาขาการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีผู้สนใจจำนวนมากในประเทศไทย
เราสามารถพบเห็นเว็บเพจหรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การทหารต่าง ๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสงคราม,
อาวุธยุทโธปกรณ์, เทคโนโลยีการทหาร และบุคคลสำคัญที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทหาร
เป็นต้น ซึ่งมีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แต่กระนั้น การศึกษาในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นยังเป็นเพียง
“ความสนใจ” ต่อประวัติศาสตร์การทหาร เน้นการศึกษาเพียงระดับโครงข่ายองค์กร
มุ่งให้ข้อมูลโดยปราศจากการวิเคราะห์ในรายละเอียด
และมักมีสำนวนการเขียนในเชิงปลุกเร้าอารมณ์ให้ผู้อ่านคล้อยตาม มากกว่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบและมีหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้
อีกทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์การทหารในประเทศไทยยังจำกัดอยู่เพียงหลักสูตรของทหาร
ซึ่งเป็นการศึกษาในเชิงกลยุทธทางทหารมากกว่าจะเป็นการศึกษาในเชิงวิชาการ ด้วยเหตุนี้
การศึกษาประวัติศาสตร์การทหารจึงไม่ราบรื่นเท่าใดนัก
นอกจากนี้ แม้ประวัติศาสตร์การทหารจะเป็นสาขาที่น่าสนใจ
แต่ก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับและชื่นชมในเชิงวิชาการเท่าใดนัก เนื่องจากประเด็นการศึกษาสำคัญของประวัติศาสตร์การทหารคือ
สงคราม ซึ่งการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้นำมาซึ่งการถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาว่า
“เป็นการเชิดชูเกียรติฝ่ายชนะสงคราม”,
“เป็นการยอมรับความดีงามของสงครามและการใช้ความรุนแรง” หรือ “ไม่ให้เกียรติต่อผู้สละชีพหรือผู้สูญเสียในสงคราม”
ทั้งที่จริงแล้ว การศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์การทหารมีมุมมองต่อสงครามเป็น
“กิจกรรมของมนุษย์อย่างหนึ่ง” ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์กระแสหลัก
และเป็นแรงผลักดันให้ประวัติศาสตร์ขับเคลื่อนไป ทั้งยังอาจกล่าวได้ว่า
ประวัติศาสตร์การทหารคือ
รูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดของการเขียนประวัติศาสตร์ในหลายวัฒนธรรม
ซึ่งปรากฏในรูปของวรรณกรรมยกย่องเชิดชูวีรบุรุษหรือผู้ปกครองดังเช่นมหากาพย์อีเลียด,
ศิลาจารึกหลักที่ 1, พงศาวดารนิฮงกิ, มหากาพย์มหาภารตะยุทธ
และภาพสลักจารึกของฟาโรห์รามเสสที่ 2 อีกทั้งเรื่องราวทางการทหารเป็นประเด็นที่สำคัญของผู้ปกครองที่จะหยิกยกขึ้นมาเพื่อแสดงภาพอำนาจบารมีต่อผู้ใต้ปกครองและต่อดินแดนเพื่อนบ้าน
แม้แต่ในปัจจุบันนี้ เรื่องราวทางทหารก็ถูกเผยแพร่ในฐานะข่าวหรือนำมาผลิตซ้ำในสื่อบันเทิง
เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของโลกสมัยใหม่ด้วย
องค์ความรู้ของประวัติศาสตร์การทหารจึงมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มประวัติศาสตร์กระแสหลัก
เช่นเดียวกับองค์ความรู้ของประวัติศาสตร์แขนงอื่นที่จะเข้ามาอธิบายประวัติศาสตร์การทหาร
ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์การทหารจึงมิใช่การศึกษาเพื่อยกย่องความรุนแรงหรือเชิดชูวีรบุรุษ
หากแต่เป็นการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจบทบาทของการทหารที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์กระแสหลักทั้งในเชิงการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งทั้งสองแขนงต่างมีปฏิสัมพันธ์และส่งผลระหว่างกันตลอดห้วงเวลานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม
ด้วยเหตุความนิยมต่อประวัติศาสตร์การทหาร ทำให้มีการศึกษาแยกย่อยออกเป็นแขนงต่าง ๆ
มากมาย รวมถึงมีระดับของความสนใจและการศึกษาแตกต่างกัน
อาจทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์การทหารอย่างจริงจังสับสนว่า
ตนเองควรเริ่มต้นการศึกษาจากจุดใด บทความนี้จึงเป็นการปูพื้นฐานแนะนำประวัติศาสตร์การทหารแนะแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แขนงนี้ตั้งแต่ขอบเขตการศึกษา,
ลักษณะการเขียนประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย, ข้อถกเถียงโต้แย้งในปัจจุบัน
จนถึงแนวโน้มการศึกษาในอนาคต โดยจะเริ่มต้นจากจุดแรกสุดคือ ประวัติศาสตร์การทหารคืออะไร?
และกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์การทหารคือใครบ้าง? และทำไมพวกเขาจึงสนใจ?
น่าสนใจดีค่ะ
ตอบลบ