ประวัติศาสตร์การทหารของจักรวรรดิไบแซนไทน์
แม้จักรวรรดิโรมันโบราณจะล่มสลายลง ดินแดนแบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรต่าง
ๆ แต่หาใช่ว่าอารยธรรมและภูมิปัญญาความรู้ของโรมันจะสิ้นสูญไปเสียหมด จักรวรรดิไบแซนไทน์
(Byzantine
Empire) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออกคือผู้ที่สืบทอดอารยธรรมภูมิปัญญาของโรมันไว้และผสมผสานกับวัฒนธรรมกรีก
โดยเฉพาะเครื่องมือการจัดการการเมืองและการสงคราม ซึ่งจักรวรรดิไบแซนไทน์สืบทอดและพัฒนาสิ่งเหล่านั้นผ่านการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามภายนอกและการขยายตัวของจักรวรรดิอิสลาม
โดยศูนย์กลางภูมิปัญญาอยู่ที่เมืองหลวง “คอนสแตนติโนเปิล”
(Constantinople) และราชสำนักเป็นผู้กำหนดขอบเขตความรู้ที่ผู้คนสามารถศึกษาได้
ซึ่งส่งผลให้ความแตกต่างของมุมมองทางประวัติศาสตร์ระหว่างราชสำนักส่วนกลางกับกลุ่มข้าราชการชนชั้นนำปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์
ภาพแกะสลักงานช้างรูปจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 7 ทรงรับการอวยพรจากพระคริสต์ เพื่อราชาภิเษกพระองค์เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Porphyrogenetus.jpg)
ภาพจักรพรรดิมิคาเอลที่ 1 รานกาเบ (Michael I Rhangabe) เข้าพิธีราชาภิเษกโดยยืนอยู่บนโล่ที่ทหารแบกขึ้นไป ซึ่งธรรมเนียมการแยกผู้ปกครองบนโล่นี้เป็นธรรมเนียมที่มาจากชนเผ่าเยอรมันที่เข้ามาเป็นทหารให้จักรวรรดิโรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เพื่อแสดงการยอมรับในหมู่ทหาร และได้กลายเป็นธรรมเนียมการราชาภิเษกของจักรวรรดิไบแซนไทน์
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Chronicle_by_John_Skylitzis,_which_depicts_the_elevation_of_
the_emperor_on_a_shield_by_the_soldiers.jpg)
the_emperor_on_a_shield_by_the_soldiers.jpg)
(http://www.persee.fr/web/revues/home/prescript/article/rebyz_0766-5598_1975_num_33_1_2028)
ภาพวาดของหนังสือประวัติศาสตร์การทหารของสำนักพิมพ์ osprey publishing แสดงให้เห็นมุมมองพิธีราชาภิเษกบนโล่ให้ชัดเจนขึ้น
(http://farm5.staticflickr.com/4054/4475671065_23754f48bd_z.jpg?zz=1)
แม้ศาสนาคริสต์จะเป็นศาสนาแห่งรัฐของจักรวรรดิไบแซนไทน์เช่นเดียวกับอาณาจักรทางตะวันตก
แต่ลักษณะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการทหารและการเขียนประวัติศาสตร์ มิได้มีลักษณะเช่นเดียวกัน
จักรวรรดิไบแซนไทน์สามารถรักษาความมั่นคงทางการเมืองไว้ได้อันเนื่องมาจากการแบ่งอำนาจการปกครองตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิไดโอคลิเชี่ยนแห่งจักรวรรดิโรมัน
จึงทำให้จักรวรรดิโรมันฝั่งตะวันออกมิได้รับผลกระทบมากเมื่อจักรวรรดิฝั่งตะวันตกล่มสลาย
สถาบันการเมืองมีความมั่นคงและปรับตัวตามแนวคิดการเมืองของศาสนาคริสต์ แต่จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์มิได้ทรงอยู่ใต้อำนาจขององค์กรทางศาสนา
หากแต่สถาปนาตนเองเป็นผู้ปกครองตัวแทนของพระคริสต์ตามแนวคิดของยูเซบิอุสแห่งซีซาเรีย
(Eusebius
of Caesarea) [1] ขณะที่องค์กรทางศาสนาเป็นเพียงสถาบันที่สร้างความชอบธรรมให้แก่จักรพรรดิและทำหน้าที่ทางพิธีกรรม
มิได้มีอำนาจทางการเมืองเหมือนเช่นศาสนจักรตะวันตก
แผนที่แสดงอาณาเขตของจักรวรรดิไบแซนไทน์เมื่อปีค.ศ. 600 ในรัชสมัยจักรพรรดิมัวริช
อีกทั้งจากภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้เส้นทางการค้า
การครอบครองพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำไนล์ และการผูกขาดความรู้ในการผลิตผ้าไหมอันเป็นสินค้ามีค่านับตั้งแต่สมัยโรมัน
ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ช่วงต้นมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะสนับสนุนให้ราชสำนักส่วนกลางสามารถสร้างกองทัพรวบอำนาจจากดินแดนต่าง
ๆ เข้าสู่ศูนย์กลางได้ โดยมีชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาทำงานการปกครองในระบบข้าราชการ
ซึ่งชนชั้นนำดังกล่าวเป็นผู้สร้างและผู้สนใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ ขณะที่กลุ่มนักบวชมีบทบาทในการเขียนประวัติศาสตร์น้อยมาก
แตกต่างจากโลกยุโรปตะวันตกที่องค์กรทางศาสนาเป็นผู้ผูกขาดการเขียนประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ศาสนาหรือประวัติศาสตร์ของผู้ปกครองท้องถิ่น
และชนชั้นขุนนางเจ้าของที่ดินท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมกองทัพ
อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคมของจักรวรรดิไบแซนไทน์ส่งผลให้การเขียนประวัติศาสตร์มีลักษณะที่คละเคล้ากัน
ด้านหนึ่งเป็นมุมมองของชนชั้นสูงในคอนสแตนติโนเปิลที่มุ่งเน้นการเมืองของราชสำนักและชีวประวัติของจักรพรรดิ
[2] ซึ่งมีตัวอย่างเช่น งานเขียน “เรื่องของสงคราม”
(De bellis) ที่เขียนโดยโปรคอพิอุสแห่งซีซาเรีย (Procopius
of Caesarea) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ซึ่งเน้นแสดงเรื่องราวของจักรพรรดิจัสติเนี่ยนที่
1 ช่วงดำเนินสงครามในสมรภูมิต่าง ๆ, งานเขียน “บันทึกชีวประวัติจักรพรรดิ” (Chronographia) ของมิคาเอล
เซลลอส (Michael Psellos) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งให้ความสำคัญกับพระราชกรณียกิจของจักรพรรดิมากกว่าเหตุการณ์ทางการเมืองและการทหารในรัชสมัยของแต่ละพระองค์
และงานเขียน “อเล็กซิอัด” (Alexiad) ของอันนา
คอมมิน่า (Anna Comena) พระราชธิดาของจักรพรรดิอเล็กซิออสที่
1 แห่งราชวงศ์คอมมินอสช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งงานเขียนของพระนางเป็นประวัติศาสตร์ในช่วงที่พระราชบิดาทรงมีพระชนม์ชีพ
และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองและการทหารในช่วงที่พระราชบิดาทำสงครามกับดินแดนทางตะวันตก
งานเขียนทั้งหมดของจักรวรรดิไบแซนไทน์จะเลียนแบบคำและสำนวนภาษาจากงานเขียนของชาวเอเธนส์สมัยกรีกโบราณ
[3]
เนื่องจากพื้นที่ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ตั้งอยู่ในแหล่งที่อารยธรรมกรีกมีอิทธิพลอยู่มาก
ต่างจากพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกที่งานเขียนจะใช้ภาษาละติน
แต่กระนั้น
ราชสำนักคอนสแตนติโนเปิลเองก็มิได้ละเลยความสำคัญของการทหารและความสามารถของรัฐในการคงกำลังทหารประจำการไว้ได้
ทำให้งานเขียนจำพวกคู่มือการทหารยังคงได้รับการสืบทอดจากสมัยโรมันและมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาแม้การใช้งานทฤษฎีทางทหารที่เขียนขึ้นในปฏิบัติการจริงจะงยังคงเป็นข้อกังขา
นอกจากนี้
ตัวจักรพรรดิเองทรงได้เขียนคู่มือไว้สำหรับให้ทายาทของพระองค์ไว้ศึกษาเพื่อใช้ดำเนินงานการฑูตและการสงครามด้วย
เอกสารดังกล่าวนี้คือ “ยุทธศาสตร์” (Στρατηγικόν) ของจักรวรรดิมัวริช
(Emperor Maurice) และ “ข้อเสนอและองค์ประกอบแห่งสงครามของเจ้าเหนือหัว
นิเคโฟรอส” (Στρατηγικὴ ἔκθεσις καὶ σύνταξις Νικηφόρου δεσπότου) หรือชื่อในภาษาละตินว่า “Praecepta Militaria”
ซึ่งต่อมานิเคโฟรอส อูรานอส แม่ทัพของกองทัพไบแซนไทน์
ได้นำเอกสารนี้มาศึกษาและแก้ไขเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของเขาในงานเขียน “ยุทธวิธี”
(Taktika) ของเขาเอง
งานเขียนของทั้งสองได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และชาติพันธุ์ของแต่ละรัฐ,
คำแนะนำในการดำเนินการสงครามต่อต้านการรุกรานในสภาพการณ์ที่ไบแซนไทน์มีกำลังน้อยกว่า
และรายละเอียดทางยุทธวิธี รวมทั้งการดำเนินการฑูตกับชนชายขอบของจักรวรรดิ
ภาพเขียนบนจานเซรามิกเกี่ยวกับบทกวีสงคราม "
เจ้าแคว้นชายแดนสองสายเลือด" ซึ่งในภาพคือตัวเอกชื่อ เบซิล กับมังกร
เจ้าแคว้นชายแดนสองสายเลือด" ซึ่งในภาพคือตัวเอกชื่อ เบซิล กับมังกร
(http://en.wikipedia.org/wiki/Digenes_Akritas)
ขณะที่การเขียนประวัติศาสตร์ของการเมืองและชีวประวัติของจักรพรรดิได้รับการให้ความสำคัญ
แต่เรื่องราวเหตุการณ์ทางทหารที่ชนชั้นนำที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนท้องถิ่นกลับได้รับความสนใจเพียงช่วงสั้น
ๆ และการเขียนประวัติศาสตร์ทั่วไปมิได้มีคุณค่าและถูกบดบังความสำคัญจากงานเขียนที่มีคุณค่ามากกว่าในสายตาของชาวไบแซนไทน์
เช่น งานเขียนด้านปรัชญาและวรรณคดี อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมของชนชั้นสูงในเมืองหลวงกับชนชั้นนำที่ปกครองส่วนท้องถิ่นแถบชายแดนก็ส่งผลให้เกิดงานเขียนจำพวกเรื่องเล่ามหากาพย์สงครามคล้ายคลึงกับบทกวีสงครามของฝั่งตะวันตก
เช่น “เจ้าแคว้นชายแดนสองสายเลือด” (Διγενῆς Ἀκρίτης - Digenes Akritas) ซึ่งเป็นเรื่องราวของวีรบุรุษชื่อ เบซิล ซึ่งเป็นลูกครึ่งกรีก-อาหรับ ออกเดินทางผจญภัยพิชิตอุปสรรคต่าง
ๆ เป็นต้น
ภาพวาดสีน้ำมันสมัยหลังที่แสดงการปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลโดยอาณาจักรออตโตมันในปีค.ศ. 1453
(https://scintillatingsilver.wordpress.com/page/2/)
(https://scintillatingsilver.wordpress.com/page/2/)
แม้จักรวรรดิไบแซนไทน์จะมีความเข้มแข็งทางทหารมากและรักษาอำนาจได้เป็นเวลานาน แต่เมื่อถึงปีค.ศ. 1204 กองทัพตะวันตกที่จะเดินทางไปทำสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ที่อียิปต์ได้รุกรานและเข้าปล้นสะดมจักรวรรดิไบแซนไทน์แทน สิ่งนี้ส่งผลให้จักรวรรดิไบแซนไทน์เริ่มเสื่อมอำนาจลง สถานการณ์การเมืองที่มั่นคงอันเกิดจากการแย่งชิงอำนาจภายใน การรุกรานของมองโกล และการเติบโตขึ้นของจักรวรรดิออตโตมันทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ของไบแซนไทน์ค่อย ๆ หยุดชะงักลง และได้ยุติลงเมื่อค.ศ. 1453 พร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิ
[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Byzantine_Empire#Religion
[2] Stephen Morillo and
Michael F. Pavkovic. What is Military History? (Polity Press, 2014),
p. 24
[3] Ibid.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น