ประวัติศาสตร์การทหารคริสต์ศตวรรษที่
19 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
บริบททางการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
การพัฒนาความคิดเรื่องเหตุผลและปรัชญาจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาและยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญานำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของผู้ปกครองในการดำเนินนโยบายของรัฐ
แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบของผู้ปกครองที่มีต่อประชาชน และการตระหนักถึงสิทธิของประชาชน
ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ได้เติบโตขึ้นในโลกใหม่โพ้นทะเลจากชัยชนะของฝ่ายอาณานิคมอเมริกาในสงครามประกาศอิสรภาพในปีค.ศ.
1783 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกานี้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจต่อฝรั่งเศสในฐานะพันธมิตรของฝ่ายอาณานิคมอเมริกาถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ระเบียบใหม่ที่ผู้ปกครองต้องปกครองตามเจตจำนงของประชาชน
นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1789 และสงครามนโปเลียน
ภาพการบุกทลายคุกบาสติลล์อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในกระบวนการยุติธรรม
(http://www.visit-and-travel-france.com/image-files/art-french-revolution.jpg)
การปฏิวัติฝรั่งเศสนี้ได้ลุกลามกลายเป็นสงครามการปฏิวัติจากการประกาศสงครามของบรรดารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อฝรั่งเศส
เพื่อล้มล้างระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่และฟื้นฟูระบอบกษัตริย์
มิให้แนวคิดสาธารณรัฐประชาธิปไตยแพร่หลายเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นปกครองในรัฐอื่น
ทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสต้องเรียกเกณฑ์ทหารจำนวนมากจากประชาชนทั้งประเทศ (Levée
en Masse) เพื่อสร้างกองทัพต่อต้านภัยคุกคาม ซึ่งวิธีการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ตอกย้ำเรื่องชาติและแนวคิดเรื่องชาตินิยมที่จะเกิดขึ้นและกลายเป็นแนวคิดหลักของสังคมในเวลาต่อมา
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสงครามด้วย
จากสงครามที่จำกัดพื้นที่และการปิดล้อมที่ดำเนินโดยกองทัพของราชวงศ์ไปสู่สงครามที่เน้นการเคลื่อนที่ทางยุทธศาสตร์อย่างรวดเร็วและการรบขั้นเด็ดขาดโดยกองทัพประชาชนและการสงครามแบบนโปเลียน
กระบวนการเรียกเกณฑ์ทหารจำนวนมากเป็นยุทธวิธีสำคัญที่ทำให้กองทัพฝรั่งเศสสามารถฟื้นตัวขึ้นจากการสูญเสียกำลังในช่วงการปฏิวัติในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถต้านทานการรุกรานจากกองทัพของรัฐรอบข้างได้ทันท่วงที
(https://publishistory.files.wordpress.com/2013/10/levee-en-masse.jpg)
นอกจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว
ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วย นั่นคือ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 กระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าจำนวนมากและเกิดการบริโภคนิยมในกลุ่มชนชั้นกลาง
และกระตุ้นให้เกิดการศึกษากับการรับรู้ข่าวสารที่แพร่หลายจากการผลิตหนังสือและวารสารจำนวนมากด้วยระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม
นำมาซึ่งสำนึกของผู้คนที่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและปรารถนาจะเห็นสังคมที่ดีขึ้น
ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ
ทั้งระหว่างชนชั้นและระหว่างแนวคิดทางการเมือง ขณะเดียวกัน
งานเขียนประวัติศาสตร์การทหารก็ได้อานิสงส์จากระบบการผลิตจำนวนมากนี้ด้วย
เครื่องสูบน้ำออกจากเหมืองของโทมัส นิวโคแมนเป็นเครื่องจักรไอน้ำที่บุกเบิกเทคโนโลยีปฏิวัติอุตสาหกรรมหลังจากเทคโนโลยีกังหันน้ำก่อนหน้า
(http://img.posterlounge.de/images/wbig/prisma-dampfmaschine-von-thomas-newcomen-1712-220665.jpg)
ในเวลาต่อมา
เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำได้ผลักดันขีดความสามารถการผลิตสินค้าได้มากขึ้นกว่าเทคโนโลยีกังหันน้ำก่อนหน้า
ทำให้การผลิตสินค้าง่ายขึ้นและผลิตได้ปริมาณมากขึ้นแบบทวีคูณ
รวมทั้งระบบการขนส่งด้วยรถจักรไอน้ำทำให้สามารถขนส่งและกระจายสินค้าได้ครั้งละมาก
ๆ ด้วย ระบบการผลิตสินค้าและการขนส่งภาคพลเรือนก็ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางทหารอย่างรวดเร็ว
และเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามในเวลาเพียงร้อยปีทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เช่น
เทคโนโลยีการผลิตปืนไรเฟิลคาบศิลาซึ่งเดิมทีกระบวนการคว้านลำกล้องทำได้ลำบากและผลิตได้ปริมาณจำกัดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่
19 สามารถผลิตได้จำนวนมากในช่วงทศวรรษที่ 1840-1860 พร้อมกับกระสุนมิเย่ (Minié
ball) ที่บรรจุได้ง่ายกว่าและยิงได้แม่นยำกว่ากระสุนลูกกลมแบบเดิม
และการพัฒนาปลอกกระสุนโลหะแทนซองกระดาษชุบไขมันในช่วงเวลาเดียวกัน
เพื่อใช้กับกลไกปืนแบบใหม่ที่ใช้ระบบเข็มแทงชนวน ทำให้ปืนเล็กประจำทหารมีอานุภาพรุนแรงขึ้น
แม่นยำขึ้น ยิงได้ต่อเนื่องมากขึ้น และใช้งานได้ง่ายขึ้น
รวมทั้งการประดิษฐ์ปืนกลหมุนลำกล้อง “แกตลิ่ง” ที่ยิงกระสุนได้ครั้งละมาก ๆ และปืนใหญ่บรรจุท้ายลำกล้องเกลียวสมัยใหม่ที่ยิงได้ต่อเนื่องและแม่นยำกว่าปืนใหญ่ลำกล้องเรียบดั้งเดิม
ส่งผลให้รูปแบบยุทธวิธีการรบแบบเรียงหน้ากระดานแบบคริสต์ศตวรรษที่ 18
จนถึงสงครามกลางเมืองอเมริกาไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
กระสุนมิเย่เป็นกระสุนหัวแหลมที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับปืนไรเฟิลลำกล้องเกลียว ทำให้กระสุนหมุนควงตัดกระแสอากาศเข้าเป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้น และทำให้พลแม่นปืนเป็นหน่วยทหารที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเครื่องจักรอุตสาหกรรมเข้ามาทำงานคว้านลำกล้องแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งทำให้การผลิตปืนไรเฟิลทำได้ง่ายมากขึ้น
(http://www.gunsandammo.info/wp-content/uploads/img_minie-ball_tn.jpg)
หน่วยพลแม่นปืนเริ่มปรากฏชัดในช่วงสงครามนโปเลียน โดยพัฒนามาจากหน่วยทหารราบเบา และดำเนินยุทธวิธีรบแบบตัดกำลังข้าศึกด้วยการยิงจากระยะไกล
(Osprey Publishing)
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ส่งผลให้สถาบันทางทหารกลายเป็นองค์กรที่เป็นเสมือนดาบสองคมที่อาจสร้างความมั่นคงต่อรัฐด้วยความสามารถปกป้องรัฐจากภัยคุกคามภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือนำรัฐไปสู่กลียุคและความไม่มั่นคงทางการเมืองจากความทะเยอทะยานขององค์กรทหารที่สำคัญตนเองว่า
เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีความเจริญสูงสุด และเป็นเอกภาพ
ซึ่งแต่ละรัฐต้องเผชิญปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการทหาร อำนาจทางการเมือง
และสังคมพลเรือน กับเสถียรภาพขององค์กรทหารที่จัดการตามรูปแบบแนวคิดของรัฐดังกล่าว
และแต่ละรัฐมีวิธีการจัดการปัญหาแตกต่างกัน โดยผู้นำหลักในการคิดแนวทางจัดการปัญหานี้คือ
ฝรั่งเศสและปรัสเซีย
รูปแบบการจัดการสถาบันทางทหารของฝรั่งเศส
คือ การแยกสถาบันทางทหารออกจากสังคมพลเรือน
เนื่องจากสังคมพลเรือนของฝรั่งเศสที่เปลี่ยนแปลงหลังจากการปฏิวัติปีค.ศ. 1789
และการปฏิวัติภายหลังอีกหลายครั้งนั้นให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งทัศนคติดังกล่าวขัดแย้งกับทัศนคติของกองทัพที่มองถึงความจำเป็นของการมีชนชั้นในรูปแบบของสายบัญชาการ
เพื่อให้เกิดอำนาจการสั่งการทางทหาร ซึ่งเป็นแนวคิดที่สั่งสมจากสังคมฟิวดัลในยุคกลางและสังคมยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สังคมพลเรือนฝรั่งเศสจึงมองว่า แนวคิดเรื่องชนชั้นเป็นอิทธิพลของระบอบกษัตริย์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคมสาธารณรัฐ
จึงไม่ได้รับการยอมรับ
แต่ขณะเดียวกันเสถียรภาพภายในของกองทัพและอำนาจสั่งการก็เป็นสิ่งจำเป็น
เพื่อมิให้กองทัพแตกแยกอันเนื่องมาจากการกบฏของทหารระดับล่าง
และจะนำมาซึ่งความวุ่นวายในสังคมและการล้มอำนาจทางการเมือง
ฝรั่งเศสจึงเลือกวิธีการแยกสังคมทหารออกจากสังคมพลเรือน เป็นอีกสังคมที่คู่ขนานกัน
ทำให้กิจกรรมของสังคมทั้งสองไม่ข้องเกี่ยวกันและไม่ก้าวก่ายกัน
ความวุ่นวายทางการเมืองภายในรัฐก็จะไม่กระทบต่อการจัดการและเสถียรภาพภายในกองทัพ
และปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพก็จะไม่ส่งผลต่อการเมืองของรัฐ ขณะเดียวกันก็สร้างความหมายใหม่ของการเกณฑ์ทหารว่า
เป็นหน้าที่รับใช้ชาติ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสังคมแห่งเสรีภาพของพลเรือน
ภาพพาดหัวข่าววารสาร Le Petit Jounal ของฝรั่งเศสเรื่องการริบยศและตำแหน่งจากร้อยเอกอัลเฟรด เดรย์ฟุส รวมทั้งการหักกระบี่นายทหาร เนื่องจากเดรย์ฟุสถูกกล่าวหาว่า จารกรรมข้อมูลส่งให้สถานฑูตเยอรมนี
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/5/52/Degradation_alfred_dreyfus.jpg/632px-Degradation_alfred_dreyfus.jpg)
แต่กระนั้น
รูปแบบการจัดการสถาบันทางทหารเช่นนี้ได้กลายเป็นปัญหาต่อสถาบันพลเรือนมากขึ้นภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐครั้งที่
3 เนื่องจากนับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส โครงสร้างของกองทัพมิได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักและบุคลากรของกองทัพจำนวนมากยังเป็นชนชั้นนำจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีทัศนคติอนุรักษ์นิยม
พยายามกีดกันทหารที่มีเชื้อชาติและศาสนาอื่นขึ้นมามีอำนาจเหนือชาวฝรั่งเศสที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก
ดูแคลนรัฐบาลสาธารณรัฐ และสนับสนุนระบอบกษัตริย์
ซึ่งการแยกสถาบันทหารออกจากสังคมพลเรือนได้เปิดโอกาสให้กลุ่มต่อต้านสาธารณรัฐเข้าแทรกแซงสถาบันกองทัพได้ง่าย
และดึงอำนาจของกองทัพมาเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจทางการเมืองดังเช่นวิกฤตการณ์ความพยายามยึดอำนาจของบูลองเย่ร์
(Boulanger
Crisis) ในปีค.ศ. 1889 และสะท้อนถึงความอ่อนแอของสถาบันการเมืองฝ่ายพลเรือนในการควบคุมกองทัพจากคดีกล่าวหานายทหารชาวยิว
อัลเฟรด เดรย์ฟุส (Dreyfus Affair) ในปีค.ศ. 1894-1906
ซึ่งคดีทางทหารเพียงไม่กี่คดีที่สาธารณชนชาวฝรั่งเศสได้รับรู้ถึงสภาพเป็นจริงในสถาบันทางทหาร
ภายหลังจากวิกฤตการณ์ทั้งสอง
รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการใส่ร้ายคดีเดรย์ฟุสทั้งหมด
และปฏิรูปกองทัพโดยใช้รูปแบบของการบังคับเกณฑ์ทหารทั่วประเทศและระบบกำลังสำรองเช่นเดียวกับปรัสเซีย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามกับเยอรมนี
รูปแบบการจัดการของปรัสเซียนั้น
คือ การใช้ระบบการเกณฑ์ทหารทั่วประเทศและการสำรองกำลังพลที่สามารถเรียกทดแทนได้ทันทีจากการเตรียมความพร้อมด้วยระบบการศึกษาทั่วประเทศและการสร้างสังคมแบบรัฐทหาร
ซึ่งภายหลังชัยชนะของปรัสเซียในสังครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียปีค.ศ. 1871
รูปแบบการจัดการของปรัสเซียได้กลายเป็นมาตรฐานการจัดการระเบียบสังคม การเมือง
และการทหารของรัฐอื่น ๆ บนภาคพื้นทวีปยุโรป
แนวคิดในการจัดการนี้มีพื้นฐานมาจากภูมิรัฐศาสตร์ของบรรดารัฐเยอรมันที่ตั้งอยู่กึ่งกลางทวีปยุโรปและขนาบข้างด้วยรัฐมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสทางตะวันตกและจักรวรรดิรัสเซียทางตะวันออก
และด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่พื้นที่แห่งนี้ถูกคุกคามจากรัฐมหาอำนาจรอบข้างและจากความขัดแย้งระหว่างรัฐเยอรมันด้วยกันเอง
จึงทำให้รัฐเยอรมันมีทัศนคติที่หวาดระแวงภัยคุกคามและต้องเตรียมพร้อมรับสงครามเสมอ
โดยเฉพาะเมื่อรัฐปรัสเซียได้รับชัยชนะทางทหารในสงครามต่าง ๆ และขึ้นมามีอำนาจเหนือรัฐเยอรมันอื่น
ๆ ในฐานะหนึ่งในรัฐที่มีอิทธิพลในสมาพันธรัฐเยอรมันที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
อย่างไรก็ตาม
ความพ่ายแพ้ในสงครามนโปเลียนเมื่อปีค.ศ. 1806
ได้ทำให้รัฐปรัสเซียเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูปประเทศทั้งทางการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร เพื่อเอาชนะสงครามและป้องกันการลุกฮือของชนชั้นล่างที่จะขึ้นมาล้มล้างชนชั้นนำเฉกเช่นที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส
การปฏิรูปดังกล่าวทำให้รัฐปรัสเซียมีการเปลี่ยนแปลงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปสู่การเป็นรัฐทหาร
การเมืองเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและบริหารประเทศด้วยระบบสภาแห่งชาติ
เศรษฐกิจแปรผันจากระบบพาณิชยชาตินิยมที่ผูกขาดโดยสมาคมช่างฝีมือและพ่อค้าไปสู่การแข่งขันในระบบทุนนิยมเสรี
และสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป รัฐพยายามให้ความช่วยเหลือในการยกเลิกระบบทาสติดที่ดินในสังคม
ชาวนามีอิสระในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพมากขึ้น และระบบการศึกษาทั่วประเทศที่ปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มองถึงความสำคัญของอนาคตในการรวมชาติเยอรมัน
ขณะที่ยังสามารถโครงสร้างชนชั้นในสังคมไว้ได้ เนื่องจากชนชั้นปกครองเป็นผู้นำการดำเนินการปฏิรูป
แม้ชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม
แต่การได้มาซึ่งอำนาจนี้มาจากความช่วยเหลือจากชนชั้นปกครองทั้งในระดับนโยบายของรัฐและการร่วมทุนในกิจการ
ขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางเองก็หวาดกลัวการลุกฮือจากชนชั้นกรรมาชีพ รวมทั้งชนชั้นเจ้าของที่ดินพัฒนาตนเองจากการปฏิรูปการเกษตรในช่วงทศวรรษที่
1840-1870 และการยกเลิกระบบฟิวดัลทำให้ชนชั้นเจ้าของที่ดินมั่งคั่งขึ้นจากทรัพย์ที่ชาวนานำมาจ่ายแลกสิทธิ์การเป็นเสรีชน
ความมั่งคั่งและการพัฒนาตนเองของชนชั้นนำเจ้าของที่ดินและความอ่อนแอของชนชั้นกลางจึงนำมาซึ่งการประนีประนอมระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นนำทางสังคมอันเป็นลักษณะทางสังคมที่แตกต่างจากสังคมที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสและอังกฤษ
อีกทั้งปรัชญาและความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองของเยอรมนีมุ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดบรรษัทนิยม
(Corporatism) และอินทรีย์นิยม (Organism)
มุ่งเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างรัฐและสังคม โดยมองว่า
หน่วยทางสังคมมีหน้าที่แตกต่างกันและไม่มีความเท่าเทียมกัน
แต่แต่ละหน่วยต้องทำงานประสานกัน เพื่อให้ส่วนรวมสามารถมีชีวิตอยู่ได้
โดยมีรัฐเป็นองค์กรสูงสุด ดูแลส่วนต่าง ๆ ให้เข้ากันได้ และดูแลสวัสดิการให้ทุกส่วนได้รับตามฐานานุรูป
[1]
ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์
ประวัติศาสตร์ และการปฏิรูปเหล่านี้ทำให้สังคมพลเรือนตระหนักถึงความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องพร้อมทำหน้าที่ทางทหารตลอดเวลา
และระบบเศรษฐกิจต้องพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางทหารทันทีที่รัฐบาล “เตรียมพร้อมเข้าสู่สงคราม” แม้สงครามยังมิได้เริ่มต้นขึ้น
ภาพจักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 กับคณะเสนาธิการทหาร ซึ่งคณะเสนาธิการทหารมีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาสงครามและจัดวางแผนสำหรับการสงคราม รวมทั้งการจัดตารางรถไฟขนส่งกำลังพลและเสบียงอย่างเป็นระบบระเบียบ
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/4c/Kaiser_generals.jpg)
ขณะที่การปฏิรูปภาคพลเรือนดำเนินไป
การปฏิรูปการทหารก็ดำเนินคู่ขนานกันด้วยระบบการเกณฑ์ทหารทั่วประเทศเช่นเดียวกับฝรั่งเศส
การตั้งระบบกองกำลังสำรอง และการตั้งคณะเสนาธิการทหาร (General
Staff) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดำเนินงานการทหารของกองทัพปรัสเซียและกองทัพเยอรมันในเวลาต่อมา
แต่เช่นเดียวกับสังคมพลเรือน แม้จะมีการดำเนินการปฏิรูป แต่สังคมทางทหารของปรัสเซียยังคงไว้ซึ่งระบบชนชั้นที่นายทหารในระบบกองทหารประจำการที่ขึ้นตรงต่อราชวงศ์เป็นผู้มีอำนาจในสายบัญชาการ
และกองทัพประจำการคือกองทัพระดับชั้นนำ ขณะที่กองทหารแห่งชาติ (Landwehr) ที่ก่อตั้งขึ้นปีค.ศ. 1813
จากระบบการเกณฑ์ทหารทั่วประเทศกลับถูกลดความสำคัญภายหลังจากสงครามนโปเลียน
และกลายเป็นกองกำลังชั้นรอง
ขณะที่ภาคพื้นทวีปยุโรป
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางทหาร
โดยเฉพาะเมื่อปรัสเซียได้รับชัยชนะจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
รูปแบบการทหารของปรัสเซียกลายเป็นแบบอย่างการปฏิรูปการทหารในรัฐต่าง ๆ
ทั้งบนภาคพื้นยุโรปและในชาติที่ห่างไกลเช่น ญี่ปุ่น จีน และสยาม ในรูปของ “การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย (ตามอย่างตะวันตก)” (Modernization) แต่บนเกาะอังกฤษที่แยกจากภาคพื้นทวีปและสหรัฐฯที่ห่างไกล
ความเปลี่ยนแปลงมิได้ส่งผลกระทบต่อการทหารมากเท่าใดนักด้วยปัจจัยสาเหตุที่แตกต่างกัน
ในอังกฤษ
ชนชั้นนำเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาระบบทุนนิยมและแนวคิดเสรีนิยม
และเป็นกลุ่มผู้ครอบงำรัฐสภา รวมทั้งชนชั้นนำมีการประนีประนอมกับชนชั้นอื่นได้
โดยให้ชนชั้นกลางเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
และช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการและการคุ้มครองชนชั้นล่าง ขณะเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนประชากร
ทำให้กองทัพอังกฤษในยามปกติมีขนาดที่เล็กและมีลักษณะเป็นทหารอาชีพที่ประจำการตลอดชีวิตเป็นเวลานานนับตั้งแต่การก่อตั้ง
“กองทัพรูปแบบใหม่” (New Model Army) ปีค.ศ. 1645 และขึ้นตรงต่อรัฐสภา มิใช่ต่อกษัตริย์
แม้จะมีการเกณฑ์ทหารเพิ่มเติมจำนวนมากเมื่องสงครามนโปเลียน แต่ก็ถูกลดขนาดลงหลังสงครามยุติ
นายทหารระดับสูงเป็นผู้ที่มาจากชนชั้นนำทางสังคม และแม้จะมีการเปิดให้ชนชั้นอื่นเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดโอกาสมากขึ้น
แต่มีเงื่อนไขจำกัดการประจำตำแหน่ง เช่น การผ่านการศึกษาในราชวิทยาลัยการทหาร,
เงื่อนไขการผ่านการประจำตำแหน่งก่อนหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด
และระยะการดำรงตำแหน่งที่จำกัด มิใช่ตำแหน่งตลอดชีวิต เป็นต้น
การปฏิรูปการรักษาพยาบาลทหารของฟลอเรนต์ ไนติงเกลเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ทำให้กองทัพมองว่า กองทัพมิอาจคงอยู่หรือพัฒนาตนเองได้หากมิได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพลเรือน
(http://www.nam.ac.uk/images/online/florence-nightingale/images/48066.jpg)
นอกจากนี้
การปฏิรูปกองทัพในช่วงสงครามนโปเลียนและในเวลาต่อมาโดยรัฐสภาและชนชั้นนำได้พยายามทำให้ทหารระดับล่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เช่น การปรับปรุงการรักษาพยาบาลและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพลทหารโดยฟลอเรนต์
ไนติงเกล (Florence Nightingale) และความพยายามยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีเฆี่ยนจากการปฏิรูปของคาร์ดเวลล์
(Cardwell Reforms) เป็นต้น ด้วยสังคมพลเรือนและสังคมทหารต่างยอมรับการมีชนชั้น
ทัศนคติการเป็นทหารอาชีพและการประนีประนอมระหว่างชนชั้น และระบอบการปกครองแบบรัฐสภาที่เปิดกว้างให้ชนชั้นอื่นมีส่วนร่วม
ทำให้สังคมทหารรู้สึกว่าตนเองต้องพึ่งพาสังคมพลเรือน
และมีทัศนคติของทหารอาชีพที่เข้าใจขอบเขตหน้าที่ของตนเอง
ซึ่งทัศนคติของทหารอาชีพนี้ได้กระจายแพร่หลายไปกองทหารพื้นเมืองในอาณานิคมที่อังกฤษไปจัดตั้งไว้ด้วย
ส่วนในสหรัฐฯ
สังคมมีลักษณะที่แตกต่างจากยุโรปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากผู้ที่อพยพมายังอเมริกาเป็นผู้ที่หลีกหนีการกดขี่จากสังคมอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำในยุโรป
มาตั้งสังคมใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีทักษะความสามารถไต่เต้าไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้
สังคมอเมริกาจึงยอมรับชนชั้นจากความสามารถและปฏิเสธอภิสิทธิ์ที่มาจากชาติกำเนิด
ขณะเดียวกัน
ด้วยระยะทางที่ห่างไกลเกินกว่าที่กองทัพอังกฤษจะให้ความคุ้มครองได้ทั่วถึงและทันท่วงที
อาณานิคมแต่ละแห่งจึงต้องจัดตั้งพลเมืองอาสาติดอาวุธ
เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของอินเดียนแดง และเมื่ออาณานิคมอเมริกา 13 รัฐทำสงครามประกาศเอกราชจากอังกฤษ
กองทัพทางการก็จัดตั้งขึ้นจากการรวบรวมชาวอาณานิคมแต่ละแห่งให้อยู่ภายใต้การบัญชาการของแม่ทัพคนเดียวภายใต้อำนาจของสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีป
(Continental
Congress) ดำเนินการรบโดยตรงควบคู่กับสงครามกองโจรที่ดำเนินโดยทหารอาสา
และสภาคองเกรสดำเนินยุทธศาสตร์การทูตขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรฝรั่งเศส
จากพัฒนาการของกองทัพที่เริ่มต้นมาจากพลเรือนติดอาวุธพิทักษ์อาณานิคมและสถาบันการเมืองภาคพลเรือนเป็นผู้จัดตั้งสถาบันทางทหาร
รวมถึงกองทัพต้องการการสนับสนุนจากภาคพลเรือนอย่างมากในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพ ทำให้สถาบันทางทหารมองว่า
พลเรือนมีความสามารถในการปกป้องตนเองและผลประโยชน์ส่วนตนได้ กองทัพมีเพียงหน้าที่ต่อรัฐเพื่อรักษาผลประโยชน์ของภาคพลเรือน
โดยมีสถาบันการเมืองเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนและสื่อกลางถ่ายทอดนโยบายยุทธศาสตร์ให้แก่กองทัพ
ทัศนคติของสถาบันทหารเช่นนี้ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมิได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสังคมพลเรือนกับสังคมทหารเท่าใดนัก
แม้ความขัดแย้งทางการเมืองจะนำมาซึ่งสงครามกลางเมืองปีค.ศ. 1861-1865 แต่ความขัดแย้งนั้นเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างแนวคิดฝ่ายพลเมืองด้วยกันเป็นหลัก
กำลังทหารมีหน้าที่ตอบสนองต่อการเมืองแต่ละฝ่าย โดยการตัดสินใจทำสงครามต้องได้รับการเห็นชอบโดยฝ่ายพลเรือน
และชัยชนะของฝ่ายสหรัฐฯยังเป็นการตอกย้ำอำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาลกลางในฐานะผู้มีอำนาจทางทหารแต่เพียงผู้เดียว
อันเป็นหลักการนับตั้งแต่การก่อตั้งรัฐบาลสหรัฐฯหลังการประกาศเอกราช
ในเวลาเดียวกัน
การพัฒนาเศรษฐกิจจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทางทหารได้ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างอำนาจเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและอำนาจทางทหาร
ประเทศในยุโรปที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและครอบครองเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัยสามารถกุมอำนาจการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ
ปัจจัยนี้นำมาซึ่งทัศนคติว่า ชาติตะวันตกเป็นชาติที่มีความเจริญทางอารยธรรมสูงสุดทั้งทางด้านการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งส่งผลให้ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19
ประวัติศาสตร์การทหารและบทเรียนประสบการณ์จากสงครามถูกละเลย
แม้แต่สงครามกลางเมืองของสหรัฐฯก็มิได้เป็นที่รับรู้นอกประเทศมากเท่าใดนักจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่
1 เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังสงครามนโปเลียน
ชาติมหาอำนาจตะวันตกมุ่งความสนใจไปยังการขยายและครอบครองดินแดนโพ้นทะเลเป็นอาณานิคม
เพื่อเก็บเกี่ยวทรัพยากรมาป้อนระบบการผลิตอุตสาหกรรมในประเทศของตน
และใช้อาณานิคมตนเองเป็นตลาดขายสินค้าส่วนเกินจากความต้องการในประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น
ซึ่งดินแดนที่ชาติมหาอำนาจเข้าไปขยายอาณานิคมล้วนมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ
และการทหารที่ด้อยกว่าชาติตะวันตกทั้งสิ้น
ประกอบกับแนวคิดเรื่องชาตินิยมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
จึงทำให้ชาติมหาอำนาจเหล่านั้นมีทัศนคติที่มองว่า
ชาติของตนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะต่อชาติที่ตนยึดครองเป็นอาณานิคม
ลักษณะแนวคิดและทัศนคติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
เหล่านี้ได้ส่งผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนี้อย่างมาก
โดยเฉพาะสามแนวคิดสำคัญดังนี้
แนวคิดชาตินิยม
(Nationalism) ดังที่ได้กล่าวไป ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ที่เป็นสำนึกร่วมของ
“ความเป็นชาติ” เหนืออัตลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น
อัตลักษณ์ของ “ชาติ”
ดังกล่าวนี้มีขอบเขตรวมการใช้ภาษาเดียวกัน, มีวัฒนธรรมเดียวกัน,
มีคุณลักษณะของเชื้อชาติเดียวกัน และที่สำคัญคือ การมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน
ซึ่งทำให้นักประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนี้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเป็นชาติผ่านการเขียนประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมืองนี้
แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างประวัติศาสตร์ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ทางการเมืองนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการและทัศนคติแบบโรแมนติก
ทัศนคติแบบโรแมนติก
(Romanticism) เป็นกระแสทางสังคมและภูมิปัญญาที่เริ่มเกิดขึ้นช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่
18 และรุ่งเรืองขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
ที่เกิดขึ้นมาตอบโต้กระแสความรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา (The Enlightenment) และแนวคิดเหตุผลนิยมตามวิทยาศาสตร์ โดยการให้ความสำคัญกับการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรงด้วยสำนึกทางวัฒนธรรม
เนื่องจากกระแสความรุ่งเรืองทางภูมิปัญญาเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำทางสังคมและชนชั้นกลางมั่งคั่งที่ต้องการสร้างกฎเกณฑ์ทางสังคมด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
แต่คำตอบทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบคำถามบางอย่างทางวัฒนธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นกับชนชั้นล่างได้
แม้กระแสแนวคิดการปกครองแบบเสรีนิยมจะริเริ่มมาจากภูมิปัญญาชนชั้นกลาง แต่ผู้ที่ผลักดันแนวคิดให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมคือ
ชนชั้นล่าง ซึ่งผสมผสานแนวคิดเข้ากับการปลุกเร้าอารมณ์ให้ผู้คนมีความรู้สึกร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงสังคม
และด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้คนรับรู้ข่าวสารการประกาศเอกราชของอาณานิคมบนทวีปอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศสมากขึ้นจากการแพร่หลายของหนังสือพิมพ์
และตัวอย่างดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ปลุกเร้าให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการเมืองวงกว้างในยุโรป
นอกจากนี้
เมื่อชาติมหาอำนาจยุโรปแผ่ขยายอำนาจของตนไปทั่วโลกด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสภาพทางสังคมที่ก้าวหน้า
แนวคิดโรแมนติกนี้ก็ทำให้ผู้คนมีมุมมองทางประวัติศาสตร์ในเชิงเส้นตรงว่า เรื่องราวของประวัติศาสตร์คือเรื่องราวความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาสังคมไปสู่อีกขั้นหนึ่ง
โดยชาติตะวันตกเป็นผู้ที่มีพัฒนาการก้าวหน้าที่สุดด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และแนวคิดเสรีนิยม
จึงเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะนำชาติอื่น ๆ ไปสู่ความเจริญ
ทัศนคติดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดมุมมองการเขียนประวัติศาสตร์ยุโรปแบบเชิดชูตนเองในลักษณะเช่นเดียวกันการเขียนประวัติศาสตร์การทหารของจูเลียส
ซีซาร์
[1] ฉัตรทิพย์ นาคสุภา.
ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรมเปรียบเทียบ. (บริษัทสำนักพิมพ์สร้างสรรค์,
2536), หน้า 70
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น