ประวัติศาสตร์การทหารของกรีกโบราณ
ประวัติศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นในอารยธรรมกรีกในฐานะของการจดบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับโลก
และเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่เติบโตขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ช่วงศตวรรษที่ 5
ก่อนคริสตกาลเช่นเดียวกับปรัชญาและการเมือง ชาวกรีกมองว่า
ประวัติศาสตร์เป็นวิธีการหาสาเหตุของเหตุการณ์ในปัจจุบัน
และเป็นเนื้อหาสำหรับนำมาใช้สร้างบทกวี บทละคร และปรัชญา
ซึ่งเนื้อหาของประวัติศาสตร์ที่ชาวกรีกบันทึกได้สะท้อนถึงการเมืองที่แบ่งแยกออกเป็นนครรัฐมากมาย
และแต่ละนครรัฐต่างต่อสู้กันเองระหว่างกันไม่จบสิ้น
แม้จะมีการรวมกลุ่มกันต่อต้านการรุกรานจากเปอร์เซียในช่วง 490-481 ปีก่อนคริตกาล
แต่ก็เป็นการร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างกันชั่วคราว
มิใช่การรวมกันจัดตั้งเป็นรัฐเดี่ยวที่มีอำนาจปกครองเต็มที่
จากการที่เอเธนส์เป็นนครรัฐหลักที่มีการเฟื่องฟูทางประวัติศาสตร์
ทำให้เอเธนส์มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยการเมืองประชาธิปไตยแบบเอเธนส์และการเป็นจักรวรรดินาวีในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่
5 ก่อนคริสตกาล
ซึ่งการเมืองของเอเธนส์เป็นการการถกเถียงเพื่อนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจ
โดยผู้มีส่วนร่วมเป็นกองทหารฮอบไลต์ซึ่งเป็นพลเมืองเจ้าของที่ดินที่มั่งคั่ง
กับกองทหารนาวีไตรรีมซึ่งเป็นพลเมืองยาจกไร้ที่ดิน ข้อมูลประวัติศาสตร์สงครามในอดีตที่จดบันทึกไว้อย่างงานของเฮโรโดตุส
(Herodotus)
และข้อมูลร่วมสมัยจากงานของธูซิดิเดส (Thucydides) ก็จะเป็นฐานข้อมูลความรู้ให้ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมใช้ถกเถียงและลงคะแนนเสียงตัดสินใจในเรื่องดำเนินการทูต
การวางยุทธศาสตร์ จริยธรรมในการทำสงคราม
รวมทั้งกระบวนการดำเนินสงครามอย่างเป็นประชาธิปไตย
แม้ภายหลังจากความพ่ายแพ้ของนครรัฐเอเธนส์ในสงครามเพโลปอนเนเซี่ยนช่วงปลายศตวรรษที่
5 ก่อนคริสตกาล กระบวนการนี้ยังคงดำเนินไปแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เนื่องจากการเพิ่มจำนวนทหารรับจ้างเข้ามาแทนที่นักรบชาวกรีกตั้งแต่ช่วงระหว่างสงครามเพโลปอนเนเซี่ยนและหลังสงคราม
ซึ่งประสบการณ์ชีวิตของทหารรับจ้างได้กลายเป็นข้อมูลพื้นฐานของบันทึกความทรงจำและบทวิเคราะห์การสงครามของเซโนฟอน
(Xenophon) และนักเขียนคนอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน
จากที่ได้กล่าวมาจะเห็นว่า
ในช่วงแรกของศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล
บุคคลสำคัญที่เป็นแกนนำหลักของการเขียนประวัติศาสตร์สมัยกรีกคือ
เฮโรโดตุสและธูซิดิเดส ซึ่งแม้ “สงคราม” จะเป็นหัวข้อที่ทั้งสองเลือกมาใส่ในงานเขียน
แต่สองบุคคลนี้มีมุมมองต่อการเขียนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
เฮโรโดตุสเขียนประวัติศาสตร์สงครามระหว่างกรีกกับเปอร์เซียในงานเขียน
“ประวัติศาสตร์” (The Histories) เพื่อ “แสดงถึงที่มาที่ไปว่า สงคราม [ระหว่างชาวกรีกและเปอร์เซีย]
เกิดขึ้นได้อย่างไร” [1]
เนื้อหาที่เขาเขียนแสดงถึงกลุ่มคนหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงคราม คือ
กรีกกับเปอร์เซีย และกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้ใต้ปกครองและผู้ต่อต้านเปอร์เซีย
โดยให้ข้อมูลในเชิงชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาจากการวิเคราะห์ภูมิศาสตร์และภูมิอากาศในถิ่นกำเนิดของแต่ละกลุ่ม
อีกทั้งยังพิจารณาถึงบทกวีและวรรณกรรมทั้งที่เป็นมุขปาฐะและที่เป็นลายลักษณ์อักษร
เพื่อเข้าใจถึงคุณลักษณะของแต่ละชาติพันธุ์และแรงจูงใจในการเข้าร่วมสงคราม
อย่างไรก็ตาม แม้เฮโรโดตุสจะอ้างอิงที่มาของเรื่องเล่าและบทกวี ต่างจากธูซิดิเดสที่มิได้อ้างอิงที่มาของเอกสารใด
ๆ ในงานของตน แต่จากการวิเคราะห์ที่ไม่มีลักษณะที่เป็น “ศาสตร์”
และแหล่งข้อมูลที่เฮโรโดตุสรวบรวมจากผู้ที่ไม่ใช่นักรบ ทำให้งานของเฮโรโดตุสถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถือเมื่อเปรียบเทียบกับงานของธูซิดิเดส
ส่วนธูซิดิเดสนั้นเขียนประวัติศาสตร์สงครามเพโลปอนเนเชี่ยน (History of Peloponnesian War)
โดยเชื่อว่า “สงครามครั้งนี้จะเป็นสงครามครั้งที่ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การจดบันทึกมากกว่าครั้งก่อน
ๆ ในอดีตที่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่” [2]
เนื้อหาที่เขาเขียนจะเป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยกรอบการเมือง
และไม่เชื่อถือข้อมูลที่เป็นบทกวีหรือปกรนัม
หากแต่ใช้รายงานของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้เห็นเหตุการณ์
และใช้การตรวจสอบเทียบเคียงระหว่างกัน
เพื่อให้ได้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด รวมทั้งการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างยุทธศาสตร์กับจุดมุ่งหมายทางการเมืองและทรัพยากรที่มีอยู่,
ทางเลือกทางศีลธรรมส่วนบุคคลกับรัฐ
และปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยาส่วนบุคคลต่อการขับเคลื่อนสงคราม
ซึ่งการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการสงครามและการเมืองนี้ต่อมาได้กลายเป็นพื้นฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์การทหารในศตวรรษที่
19
แม้เซโนฟอนจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์การทหารกลุ่มรอง
แต่ก็เป็นบุคคลสำคัญที่สืบทอดรูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์การทหารของธูซิดิเดสและพัฒนาไปสู่งานเขียนที่เป็นบันทึกความทรงจำและบทวิเคราะห์สงครามในงาน
Anabasis
ของเขา ซึ่งเซโนฟอนเขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่เขาเข้าร่วมกับเป็นกองทหารรับจ้างชาวกรีกที่รับจ้างต่อสู้ในเปอร์เซีย,
ธราซ และสปาร์ตา รวมทั้งคู่มือทางทหารจำนวนสองเล่มคือ
คู่มือการดูแลและฝึกฝนม้า (Peri hippikes) กับคู่มือผู้บัญชาการทหารม้า
(Hipparchikos) ซึ่งทั้งสองเล่มนี้เป็นไปได้ว่า เซโนฟอนเขียนขึ้นเพื่อใช้สอนลูกชายซึ่งเป็นทหารม้า
และอาจจะให้ลูกนำไปใช้สอนลูกหลานในอนาคต
งานเขียนของเซโนฟอนได้สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองในภูมิภาคกรีกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังสงครามเพโลปอนเนเชี่ยน
นครรัฐกรีกแต่ละแห่งอ่อนแอลงจากสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกันและโรคระบาด
โดยเฉพาะสองนครรัฐสำคัญคือ เอเธนส์และสปาร์ต้า
ภายใต้ระบบกองทหารฮอปไลต์ซึ่งเป็นกองทหารกึ่งพลเมืองที่จะเรียกเกณฑ์มาจัดทัพเฉพาะเมื่อเกิดสงคราม
สงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและโรคระบาดส่งผลให้กองทัพไม่สามารถเรียกเกณฑ์กำลังจากพลเมืองในรัฐได้เพียงพอ
นครรัฐแต่ละแห่งจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการเกณฑ์กำลังพลจากทหารรับจ้างมากขึ้นทดแทนพลเรือนของตน
อย่างไรก็ตาม
การแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ในคาบสมุทรกรีกก็ยุติลงเมื่อทศวรรษที่ 330
ก่อนคริสตกาล
นครรัฐมาซิโดเนียได้ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในภูมิภาคแห่งนี้และควบรวมบรรดานครรัฐกรีกให้อยู่ภายใต้อำนาจ
นำมาซึ่งการเปลี่ยนยุคสมัยจากยุคคลาสสิคเข้าสู่สมัยเฮเลนนิสติก
ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมกรีกแพร่ออกจากภูมิภาคดั้งเดิมไปสู่ดินแดนอื่น ๆ
ตามเส้นทางการพิชิตอาณาจักรของอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนีย แม้ภายหลังอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ลงและอาณาจักรที่พระองค์พิชิตได้ต่างแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันเอง
แต่ความสำเร็จของมาซิโดเนียและอเล็กซานเดอร์ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าแม่ทัพและกษัตริย์ในอาณาจักรต่าง
ๆ พยายามเลียนแบบ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง, การทหาร,
สังคม และการเขียนวรรณกรรมการทหาร
รูปขบวนของกองแหลน "เปเซไทรอย" (Pezhetairoi) หรือ "สหายทหารราบ" (Foot companions) อันเป็นสันหลังหลักของกองทัพมาซิโดเนีย ซึ่งใช้แหลนยาวประมาณ 6-7 เมตรสร้างข้อได้เปรียบในการต่อสู้กับกองทหารฮอปไลต์ดั้งเดิมที่ใช้หอกยาวเพียงประมาณ 3 เมตร
ความสำเร็จของมาซิโดเนียนี้มิได้เกิดขึ้นในสมัยอเล็กซานเดอร์
หากแต่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 พระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งแต่เดิมกองทัพของมาซิโดเนียเองก็มิได้ผิดแผงแตกต่างไปจากกองทัพฮอปไลต์ของนครรัฐกรีกอื่น
ๆ จนกระทั่งกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ปฏิรูปกองทัพฮอปไลต์ทั้งระบบ
ให้กองทหารฮอปไลต์เป็นกองทหารอาชีพประจำการแทนที่กองทหารกึ่งพลเรือน ปรับใช้อาวุธและยุทธวิธีให้สร้างความได้เปรียบต่อข้าศึกมากที่สุด
และใช้ยุทธศาสตร์แบ่งแยกพันธมิตรนครรัฐกรีกและเข้าพิชิตแต่ละนครรัฐ จนท้ายที่สุด ราชอาณาจักรมาซิโดเนียขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในภูมิภาคและเป็นผู้นำจัดตั้งสันนิบาตชาวกรีก
(โดยที่นครรัฐสปาร์ต้าไม่เข้าร่วม) ขึ้นต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิเปอร์เซีย ภายหลังที่กษัตริย์ฟิลิปถูกลอบปลงพระชนม์
เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ก็สืบทอดเจตนารมณ์ต่อและนำกองทัพเข้าพิชิตเปอร์เซียได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม
เมื่อกองทัพต้องเผชิญกับรูปแบบการรบที่ไม่คุ้นเคยในอาณาจักรทางตะวันออกที่ห่างไกล เช่น
ทหารม้าพลธนูของไซเธี่ยนและกองทัพช้างศึกของอินเดีย กองทัพของอเล็กซานเดอร์ก็ประสบปัญหาทางการรบ
แต่ก็สามารถปรับตัวตอบโต้ต่อฝ่ายตรงข้ามจนได้รับชัยชนะ และภายหลังจากอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์
ขุนศึกแม่ทัพที่ติดตามร่วมรบกับอเล็กซานเดอร์ก็รับเอารูปแบบกองทัพของพระองค์และการประยุกต์ใช้การสงครามในแต่ละท้องถิ่นมาเสริมสร้างความแข็งแกร่ง
รวมถึงการอ้างสิทธิ์สืบทอดอำนาจและความยิ่งใหญ่ของอเล็กซานเดอร์ นำมาซึ่งการสร้างกองทัพที่แสดงภาพลักษณ์ของความยิ่งใหญ่
เช่น การใช้ช้างศึกและเรือรบขนาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการสร้างลัทธิบูชาบุคคลในราชวงศ์ตอบสนองระบอบการเมืองยุคเฮเลนนิสติกที่ชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาเป็นผู้กุมอำนาจปกครองรัฐแบบรวมศูนย์แทนที่การปกครองที่พลเมืองในท้องถิ่นมีส่วนร่วมแบบนครรัฐดั้งเดิม
ภาพกษัตริย์เดเมทริออสแห่งราชอาณาจักรบัคเตรียซึ่งสวมหัวช้างบนศีรษะ ซึ่งช้างถือเป็นสัตว์แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในสมัยเฮเลนนิสติก ผู้ที่พิชิตช้างได้จึงถือว่าเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ และการแสดงออกถึงการพิชิตคือ การนำหัวของช้างมาสวมบนศีรษะของตนเฉกเช่นเดียวกันเฮอร์คิวลิสที่ถลกเอาหัวและหนังสิงโตเนเมี่ยนมาสวมบนศีรษะ
(http://www.beastcoins.com/Bactria-IndoScythian/Bactrian.htm)
การเขียนวรรณกรรมการทหารก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกองทัพเป็นทหารอาชีพ ทำให้เกิดความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือสำหรับการฝึกฝนทหารอย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
วรรณกรรมการทหารจึงปรากฏในรูปของคู่มือการฝึกฝน, การจัดการโครงสร้างกองทัพ,
ยุทธวิธีการรบ และการวิเคราะห์การสงครามที่ผ่านมา แต่กระนั้น ภายหลังจากที่เหล่าขุนศึกของอเล็กซานเดอร์สามารถสถาปนาอำนาจของตนเองได้มั่นคง
วรรณกรรมการทหารก็แปรเปลี่ยนไปเป็นพงศาวดารของกษัตริย์และบันทึกชีวประวัติของขุนศึกคนสำคัญ
เพื่อเชิดชูความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครอง แม้จะมีการกล่าวถึงรายละเอียดการสงคราม แต่มักมีเนื้อความและสำนวนที่เป็นรูปแบบตายตัว
อีกทั้งมีเนื้อหาที่เน้นการเมืองและกลอุบายในราชสำนักมากกว่าจะเป็นการวิเคราะห์การสงคราม
ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า กลุ่มผู้สนใจเปลี่ยนจากนักรบขุนศึกไปเป็นชนชั้นนำในราชสำนัก
และจำกัดการเข้าถึงแค่เพียงเฉพาะในชนชั้น จึงทำให้เอกสารชั้นต้นสมัยเฮเลนนิสติกเหล่านี้หลงเหลือมาถึงปัจจุบันน้อยมา
อย่างไรก็ตาม เอกสารชั้นต้นเหล่านั้นได้รับการศึกษาโดยชาวโรมันซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมกรีกสมัยเฮเลนนิสติก
แม้ตัวเอกสารของโรมันจะกล่าวถึงเอกสารสมัยเฮเลนนิสติกในลักษณะบทสรุปความโดยรวม แต่ก็มีส่วนทำให้ประวัติศาสตร์สมัยเฮเลนนิสติกไม่ขาดช่วงหายไปและสืบทอดต่อกับสมัยโรมัน
จึงอาจกล่าวได้ว่า ชาวโรมันคือผู้ที่สืบทอดโลกเฮเลนนิสติกของชาวกรีก
[1] Herodotus. The Histories, translated by
A. de Selencourt (Penguin, 1954), p. 41
[2] Thucydides. History of Peloponnesian War,
translated by Rex Warner (penguin, 1954), p. 35
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น