วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (4) : จีนโบราณ



ประวัติศาสตร์การทหารของอาณาจักรจีน

ในดินแดนทางตะวันออก อารยธรรมจีนเป็นอีกหนึ่งอารยธรรมที่มีการให้ความสำคัญต่อการจดบันทึกเรื่องราว เนื่องด้วยสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีและมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ ราชการจีนจึงให้ความสำคัญต่อการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในเชิงสถิติคาดการณ์ผลผลิตที่จะสามารถเรียกเก็บภาษีได้ และใช้ศึกษาผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อกำหนดนโยบายการปกครอง


 แผนที่แสดงอาณาเขตของบรรดาแคว้นต่าง ๆ ในช่วงประมาณ 260 ปีก่อนคริสตกาล
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:EN-WarringStatesAll260BCE.jpg)


ในทางการทหารก็เช่นกัน ชาวจีนให้ความสำคัญต่อการจดบันทึกเรื่องราวการศึกสงครามและนำมาใช้วิเคราะห์การทหาร การบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์และการทหารได้ริเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในยุคสงครามระหว่างแคว้น (Warring States period) หรือจ้านกว๋อที่เกิดขึ้นระหว่างปีที่ 474-221 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แว่นแคว้นและชนเผ่าต่าง ๆ ต่อสู้ระหว่างกัน เพื่อช่วงชิงอำนาจความเป็นใหญ่และการยอมรับจากมวลชนในฐานะผู้อุปถัมภ์องค์จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โจวที่อ้างอำนาจความศักดิ์สิทธิ์จากความเชื่อเรื่องโอรสสวรรค์ (ซึ่งในเวลาต่อมา แว่นแคว้นขนาดใหญ่ที่หลงเหลืออยู่จะพยายามรวมดินแดนเป็นหนึ่งเดียวภายใต้แนวคิดทางการเมืองใหม่ที่โอรสสวรรค์สามารถถูกล้มล้างได้หากไม่สามารถรักษาระเบียบของสังคม) ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เกิดการบ่มเพาะภูมิปัญญา เช่น ขงจื้อและสำนักปรัชญาคู่แข่งอื่น ๆ เพื่อค้นหาหนทางที่จะจัดระเบียบสังคมให้กลมกลืนกับจักรวาลอันจะนำไปสู่การยุติสงครามและนำสังคมกลับคืนสู่ระเบียบดั่งเช่นยุคสงบสุขก่อนหน้า [1]

ตลอดช่วงยุคสงครามระหว่างแคว้น แว่นแคว้นขนาดเล็กที่อ่อนแอจะถูกผนวกเข้ากับแคว้นขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งและมีการจัดการที่ดี ซึ่งการผนวกดินแดนมิอาจเกิดขึ้นได้หากขาดโครงสร้างการเมืองที่จะเข้ามารองรับกับดินแดนที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นและมีกลุ่มคนหลากหลายมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในแต่ละแคว้น ซึ่งในอดีตนับตั้งแต่ราชวงศ์ซาง แว่นแคว้นต่าง ๆ ปกครองด้วยระบอบอภิชนาธิปไตย ชนชั้นสูงนักรบคือกลุ่มคนที่ครอบงำอำนาจทางการเมืองและการทหาร ขณะที่ผู้ปกครองจากศูนย์กลางเป็นเพียงผู้ได้รับการยอมรับจากมวลชนและบรรดาชนชั้นสูงในแว่นแคว้นต่าง ๆ ด้วยการอ้างสิทธิธรรมจากอำนาจเหนือธรรมชาติ [2]

การเปลี่ยนแปลงการเมืองที่เกิดขึ้นได้สร้างการปกครองระบอบอัตตาธิปไตยที่เจ้าแคว้นคือผู้เดียวที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและการทหาร โดยมีกองทัพที่แปรเปลี่ยนจากการเน้นความสำคัญต่อชนชั้นสูงที่บัญชาการกองทหารม้าศึกและรถม้า เป็นกองทัพทหารราบขนาดใหญ่ที่บัญชาการโดยแม่ทัพที่รับบัญชาจากเจ้าแคว้นโดยตรง และระบบราชการรองรับการบริหารรัฐที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งชนชั้นข้าราชการผูกพันกับตำแหน่งที่รัฐมอบหมายและค่อย ๆ กลายเป็นชนชั้นสำคัญในสังคมเมื่อเวลาผ่านไป ขณะที่ผู้ปกครองแคว้นก็ได้สถาปนาตนเองเป็นผู้ที่รักษาความกลมกลืนแห่งจักรวาลและระเบียบทางการเมือง ลักษณะดังกล่าวนี้จะปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนในสมัยราชวงศ์ฮั่นแม้การรวบรวมแว่นแคว้นเป็นหนึ่งเดียวจะเกิดในสมัยราชวงศ์ฉินก่อนหน้า

ตลอดช่วงเวลาที่แต่ละแว่นแคว้นพยายามรวมดินแดนเป็นหนึ่งเดียว งานเขียนวิเคราะห์การทหารได้รับการผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางการใช้กำลังทหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลุ่มผู้สนใจเป็นเหล่าผู้ปกครองและขุนศึก และอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่างที่ใช้ยืนยันข้อวิเคราะห์เหล่านั้น แต่ภายหลังจากการรวมดินแดน งานเขียนทางประวัติศาสตร์ได้แยกตัวออกจากงานเขียนทางทหารและกลายเป็นประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของราชสำนักส่วนกลาง ซึ่งบทบาทของประวัติศาสตร์การทหารที่มีต่องานเขียนวิเคราะห์การทหารและประวัติศาสตร์ราชวงศ์ได้แสดงถึงความเหมือนและความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับงานเขียนประวัติศาสตร์การทหารของกรีก-โรมัน


 ตำราพิชัยสงครามของซุนวูฉบับคัดลอกสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
(http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bamboo_book_-_binding_-_UCR.jpg)

งานเขียนทางการทหารของจีนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีต้นฉบับสมบูรณ์ที่สุด และมักอ้างอิงถึงบ่อยครั้งในปัจจุบัน คือ กฎการทหารของอาจารย์ซุน(孫子兵法) [3] หรือที่รู้จักทั่วว่า ตำราพิชัยสงคราม” (The Art of War) ของซุนวู (Sun Tzu - 孫子) แม่ทัพและนักยุทธศาสตร์การทหารยุคชุนชิว (Spring and Autumn period – ประมาณปีที่ 771-476 ก่อนคริสตกาล) ตำราพิชัยสงครามของเขาเป็นคู่มือการทหารที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหลักยุทธศาสตร์, ยุทธวิธี และแนะนำวิธีการฝึกฝนทหาร ซึ่งลักษณะเนื้อหาของซุนวูสามารถเทียบได้กับคู่มือการทหารของเวเกติอุสและงานเขียนแบบเดียวกันในอารยธรรมกรีก-โรมัน แต่ตำราพิชัยสงครามของซุนวูใช้ตัวอย่างจำนวนมากจากประวัติศาสตร์จีนในการแสดงหลักการของเขา อีกทั้งซุนวูมุ่งให้ความสำคัญกับบทบาทของแม่ทัพที่มีความฉลาดเฉลียวในการนำกองทัพไปสู่ชัยชนะ ซึ่งลักษณะนี้คล้ายคลึงกับงานเขียนของจูเลียส ซีซาร์ที่ยกย่องตนเองในฐานะแม่ทัพที่มีความสามารถนำกองทัพโรมันไปสู่ชัยชนะ แต่กระนั้น ความเฉลียวฉลาดที่ซุนวูกล่าวถึงเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้หลักการที่เขาได้วางเอาไว้ มิใช่เกิดจากสัญชาตญาณอย่างที่ซีซาร์กล่าวเพื่อยกย่องตนเอง นอกจากนี้ ในเรื่องมุมมองที่มีต่อทหาร ซุนวูมิได้ให้ความสำคัญใด ๆ ต่อบุคลากรที่ทำหน้าที่ดำเนินการตามแผนที่แม่ทัพวาง และยังมองว่า ความคิดริเริ่มของทหารใต้บัญชาเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายอำนาจการบัญชาการกองทัพของแม่ทัพ ต่างจากมุมมองของซีซาร์ที่แม้ทหารจะเพียงหุ่นที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่ทัพ แต่ผู้ที่ต่อสู้เยี่ยงวีรบุรุษก็สมควรได้รับการยกย่อง และความคิดริเริ่มของทหารในบัญชาก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ความสามารถของแม่ทัพ

มุมมองของซุนวูที่มีต่อทหารนี้แสดงถึงการพัฒนาแนวคิดการเมืองในดินแดนจีนที่มุ่งไปสู่การปกครองแบบอัตตาธิปไตย ด้วยความมุ่งหมายของราชวงศ์ ณ ศูนย์กลางอำนาจที่ต้องการทำลายการคุกคามจากอิทธิพลของชนชั้นสูง จึงนำไปสู่การทำลายพื้นฐานของสังคมนักรบที่ก่อร่างโดยชนชั้นสูงนักรบในอดีต และการลดความสำคัญของปฏิบัติการทางทหารจากสิ่งแสดงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเหลือเพียงการเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งนำไปสู่การสร้างวรรณกรรมที่ต่อต้านการทหารในสมัยต่อมาและกลายเป็นกระแสการเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลักของอารยธรรมจีน


บันทึกของนักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของซือหม่า เฉียน อันเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่เป็นระบบชิ้นแรกของประวัติศาสตร์จีน
(http://www.mildchina.com/history-culture/simaqian.html)

งานเขียนที่ต่อต้านคุณค่าทางทหารดังกล่าวได้ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นโดยวรรณกรรมเรื่อง บันทึกของนักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่(太史公書) [4] ที่เขียนโดยซือหม่า เฉียน (Sima Qian -司馬遷) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่นผู้เป็นบิดาแห่งการเขียนประวัติศาสตร์จีน ซึ่งจากการเป็นนักประวัติศาสตร์ของราชสำนัก และงานเขียนมีลักษณะเป็นการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลและใช้วิธีการสืบค้นเทียบเคียงแหล่งข้อมูล ทำให้งานเขียนของเขาเทียบเคียงได้กับงานเขียนของธูซิดิเดส

จากมุมมองของซือหม่า เฉียนที่มองประวัติศาสตร์เป็นเรื่องทางศีลธรรมและวาทกรรม เขาจึงเขียนประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ก่อนหน้าในลักษณะที่นำไปใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่ราชวงศ์ฮั่น และนำเรื่องหลักคิดของลัทธิขงจื้อในเรื่องมนุษยธรรม ลักษณะของรัฐบาลที่ดี และการรักษาสันติภาพมาใช้ลดคุณค่าแนวคิดวีรบุรุษนักรบ แม้เนื้อหาในงานเขียนของซือหม่า เฉียนจะมีกล่าวถึงเรื่องทางการทหาร แต่เขาจะมุ่งเน้นทางเลือกของยุทธศาสตร์ในการจัดการความขัดแย้งและบทเรียนจากสงครามในทางการเมืองและศีลธรรม มากกว่าจะเน้นการบรรยายถึงการสงครามและยุทธวิธี รวมทั้งไม่กล่าวถึงความรุ่งเรืองหรือชื่อเสียงจากสมรภูมิ เพราะซือหม่า เฉียนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องและเป็นอันตรายต่อรัฐ เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้ขุนศึกได้รับการยอมรับและขึ้นมามีอิทธิพลทางการเมืองท้าทายผู้ปกครองในราชวงศ์ อันจะนำไปสู่ความแตกแยกและสงคราม

รูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์ของซือหม่า เฉียนนี้ได้กลายเป็นรูปแบบมาตรฐานที่นักประวัติศาสตร์จีนในยุคต่อ ๆ มาจะใช้ในการเขียนประวัติศาสตร์ โดยมุ่งให้ความสำคัญยังผลลัพธ์ท้ายสุด นั่นคือ ความสามารถในการปกครองรัฐที่พิชิตได้ มิใช่ความสามารถในการพิชิตอาณาจักร ซึ่งได้กลายเป็นกรอบศีลธรรมการปกครองว่า การพิชิตอาณาจักรจากบนหลังม้าหาใช่จะปกครองจากบนอานม้าได้” [5] จึงส่งผลให้เนื้อหาประวัติศาสตร์การทหารของจีนมีรายละเอียดน้อยแม้อาณาจักรจีนจะมีการจัดองค์กรทางทหารที่อาจจะดีกว่าองค์กรทางทหารของกรีกและโรมัน

[1] Stephen Morillo and Michael F. Pavkovic. What is Military History? (Polity Press, 2014), p. 19
[2] Stephen Morillo. Frameworks of World History (Combined Volume). (Oxford University Press, 2014), p. 77
[3] http://en.wikipedia.org/wiki/The_Art_of_War
[4] http://en.wikipedia.org/wiki/Records_of_the_Grand_Historian 
[5] Stephen Morillo and Michael F. Pavkovic. What is Military History?, p. 21

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น