วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (12) : คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1




ประวัติศาสตร์การทหารในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1


เนื่องจากสงครามนโปเลียนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รูปแบบสงครามเปลี่ยนแปลงไป กองทัพมีขนาดใหญ่ขึ้น ต้องการการจัดระเบียบและระบบการสงครามรูปแบบใหม่ขึ้นมารองรับ ต้องการระบบการสื่อสารถ่ายทอดคำสั่งแบบใหม่ที่ทำให้แม่ทัพสามารถล่วงรู้สถานการณ์ล่าสุดอย่างรวดเร็วและสามารถออกคำสั่งได้ทันที เทคโนโลยีอาวุธสูงขึ้นอย่างปืนไรเฟิลก็ทำให้กองทหารแม่นปืนและการรบแบบกองโจรตัดกำลังเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น การเขียนประวัติศาสตร์การทหารจึงมุ่งเน้นไปสู่การสร้างคู่มือสงครามมากขึ้น เพื่อเผยแพร่ทฤษฎีการสงครามและการจัดการกองทัพที่จะนำไปสู่ชัยชนะ โดยมีผู้เขียนสำคัญสองคนหลักคือ อองตวน-อองรี โชมินี (Antoine-Henri Jomini) นายพลชาวสวิสซ์สังกัดกองทัพนโปเลียนก่อนแปรพักตร์ไปสังกัดกองทัพรัสเซียภายหลัง และ คาร์ล ฟอน เคลาเซวิตส์ (Carl von Clausewitz) นายทหารปรัสเซียที่ต่อสู้กับกองทัพนโปเลียน


หนังสือเรื่อง "สู่สงคราม" (On war) ของเคลาเซวิตส์คือหนึ่งในตำราพิชัยสงครามสมัยใหม่ที่มองสงครามเป็นหนึ่งในวิถีการฑูตที่ใช้บีบบังคับให้อีกฝ่ายยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายเรา และมองกระบวนการดำเนินสงครามเป็นหลักการที่ตายตัวที่จะสามารถนำไปใช้ได้ในทุกการรบ เพื่อให้ได้ชัยชนะ ซึ่งทัศนคติดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นทั่วไปในช่วงคริสต์ศวรรษที่ 19 และยังส่งผลสืบเนื่องมาถึงกระบวนการคิดทางทหารในปัจจุบันในหลายประเทศ รวมทั้งกำลังกลายเป็นคู่มือวางแผนการทางธุรกิจควบคู่กับพิชัยสงครามของซุนวู
(http://img2.imagesbn.com/images/103830000/103839209.jpg)


วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (11) : บริบทที่เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 19-20



ประวัติศาสตร์การทหารคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

การพัฒนาความคิดเรื่องเหตุผลและปรัชญาจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาและยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญานำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของผู้ปกครองในการดำเนินนโยบายของรัฐ แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบของผู้ปกครองที่มีต่อประชาชน และการตระหนักถึงสิทธิของประชาชน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ได้เติบโตขึ้นในโลกใหม่โพ้นทะเลจากชัยชนะของฝ่ายอาณานิคมอเมริกาในสงครามประกาศอิสรภาพในปีค.ศ. 1783 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกานี้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจต่อฝรั่งเศสในฐานะพันธมิตรของฝ่ายอาณานิคมอเมริกาถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ระเบียบใหม่ที่ผู้ปกครองต้องปกครองตามเจตจำนงของประชาชน นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1789 และสงครามนโปเลียน

ภาพการบุกทลายคุกบาสติลล์อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในกระบวนการยุติธรรม
(http://www.visit-and-travel-france.com/image-files/art-french-revolution.jpg)

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การเขียนประวัติศาสตร์การทหาร (10) : จากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาสู่ยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญา



ประวัติศาสตร์การทหารของยุโรปจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการถึงยุครุ่งเรืองทางภูมิปัญญา

ตลอดช่วงเวลาที่ยุคกลางในยุคโรปตะวันตกดำเนินไป ปัจจัยต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนที่มีต่อสังคมในยุคกลาง อาทิ

- ระบบเศรษฐกิจเงินตราที่เกิดขึ้นประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนเป็นเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายในระดับท้องถิ่นและเป็นจุดเชื่อมต่อกับเมืองอื่น ๆ สร้างเป็นเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานรองรับเส้นทางการค้าและการเผยแพร่ความรู้ แม้ว่าเมืองจะมิใช่สิ่งใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมกรีก-โรมันในยุคก่อนหน้า แต่ชาวเมืองยังคงอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมชนบทที่ให้ความสำคัญกับการเกษตร และยอมรับอำนาจของผู้ปกครองที่เหนือกว่าจากสิทธิธรรมตามลัทธิ-ศาสนาโบราณ ต่างจากชาวเมืองในยุคกลางที่ปลีกตนเองออกจากสังคมชนบทตามระบบฟิวดัลมาใช้ชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระในเมือง